มิวเซียมสยาม จับมือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี และ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เปิดเวที “สำแดงเพลง” ชวนศิลปินคนสุพรรณบรรเลงเพลงของดีเมืองสุพรรณ

ข่าวท่องเที่ยว Monday September 21, 2015 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์ มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี และสำนักการสังคีต กรมศิลปากรจัดกิจกรรม "ของดีเมืองสุพรรณ ภาค 2" ภายใต้โครงการ Museum Family ปี 3 ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเวที "สำแดงสดเพลงเมืองสุพรรณ" พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ "เล่าเรื่องเมืองสุพรรณบุรี" หวังกระตุ้นคนรุ่นใหม่สืบสานศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่น เอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนคนสุพรรณ โดยได้รับเกียรติจาก นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี, นางขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้านภาคกลาง-เพลงอีแซว) และนายวัชรินทร์ โสไกร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมเสวนา นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรีมีความเจริญทางวัตถุใกล้เคียงเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่า คนสุพรรณบุรีจะหันกลับมาใช้ชีวิตที่ช้าลงและหันกลับมาเรียนรู้รากเหง้าของตนเองมากขึ้น ศึกษาอดีตเพื่อนำมาใช้กับปัจจุบันเนื่องจากความเจริญทางวัตถุและโลกที่ไร้พรมแดนในยุคอินเตอร์เน็ต จะทำให้คนมีความเหมือนกันมากขึ้นจนขาดอัตลักษณ์ ในขณะที่รากเหง้าของคนสุพรรณมีความชัดเจน ทั้งทางด้านภาษาและการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย การย้อนกลับมามองอดีตในทุกมิติจะสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของคนสุพรรณขึ้นมาบนรากเหง้าดั้งเดิม ทางด้าน นางขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้านภาคกลาง-เพลงอีแซว) อธิบายว่า วัฒนธรรมพื้นบ้านถือว่าเป็นเกร็ดของชีวิตแต่ละภาค หากเยาวชนหรือคนรุ่นหลัง ไม่รู้จักรากเหง้าตัวเองก็อาจจะยืนหยัดได้ยาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ ไม่เฉพาะศิลปะพื้นบ้าน แต่ยังรวมถึงภูมิปัญญาและคำสอนที่ปู่ย่าตายายได้ริเริ่มไว้ "วิธีการถ่ายทอดมรดกและภูมิปัญญาทางด้านดนตรีซึ่งเป็นของดีเมืองสุพรรรณไปสู่คนรุ่นหลัง ควรเปิดเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ สนใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมโดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป แม้จะไม่ได้นำมาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ก็ควรรับรู้ว่าตนเองเป็นใครและมาจากที่ไหน ดังเช่นคำพูดของคนโบราณว่าอย่าลืมกำพืดของตนเอง" แม่ขวัญจิต ระบุ ด้านนักร้องรุ่นใหม่สายเลือดสุพรรณอย่าง นางสาวเปาวลี พรพิมล ให้ความเห็นว่า รากเหง้าของความเป็นไทยคือวัฒนธรรมของประเทศ คนไทยมีวัฒนธรรมการกินอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้คนมีน้ำใจ และรอยยิ้มที่แจ่มใส อีกทั้งแต่ละภาคของประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมแยกย่อยที่แตกต่างกัน ถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่สุพรรณบุรีก็มีวัฒนธรรมด้านดนตรีที่หลากหลาย อย่างเพลงอีแซว เพลงลำตัด การร้องเพลงลูกทุ่ง เป็นต้น "วัยรุ่นยุคใหม่ ก็เหมือนกับตัวเปาที่มีความสนใจในดนตรีต่างชาติมากขึ้น ทั้งเพลงเกาหลี เพลงฝรั่ง แต่ก็เชื่อว่าทุกคนยังมีหัวใจที่เป็นไทย มีความต้องการที่จะช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพราะทุกวันนี้เรายังเห็นภาพวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่สนใจเข้าวัดทำบุญ ฟังเพลงไทย ร้องเพลงลูกทุ่ง นี่คือสิ่งยืนยันว่าคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป" ศิลปินเลือดสุพรรณสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ