มรภ.สงขลา วท.สตูล วิจัยจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เปิดเวทีฟังเสียงภาคีเครือข่าย 5 จว.ใต้-4 รัฐมาเลเซีย

ข่าวทั่วไป Friday September 25, 2015 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--มรภ.สงขลา มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เปิดเวทีเทียบเชิญภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนความเห็นงานวิจัย การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 รัฐ มาเลเซีย ดร.นราวดี บัวขวัญ รักษาการหัวหน้าสำนักงานวิทยาเขตสตูล มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส) และ 4 รัฐ (กลันตัน เปรัค เคดาห์ และเปอร์ลิส) ประเทศมาเลเซีย ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่อาเซียน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดเวทีชี้แจงรายละเอียดของโครงการวิจัย พร้อมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ณ มรภ.สงขลา โดยงานวิจัยดังกล่าวศึกษาใน 3ประเด็นสำคัญ คือ 1. ขีดความสามารถในการรองรับด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.การเปรียบเทียบมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 รัฐ ประเทศมาเลเซีย 3. การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนระหว่างชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชุมชนจัดการ Home-stay ใน 4รัฐ ประเทศมาเลเซีย โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการศึกษา ประกอบด้วย 1. ชุมชนบ้านหัวทาง อ.เมือง จ.สตูล 2.ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา 3. ชุมชนตันหยงลูโละ อ.เมือง จ. ปัตตานี 4. ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 อ.เบตง จ. ยะลา และ 5. ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อ.สุคีริน จ.นราธิวาส และชุมชนในพื้นที่ 4 รัฐ ประเทศมาเลเซีย 1. ชุมชน Kampung Paya Guring รัฐเปอร์ลิส (Perlis) 2. ชุมชน Kampung Jeruju รัฐเคดาห์ (Kedah) 3. ชุมชน Kampung Beng รัฐเปรัค (Perak) และ 4. ชุมชน Kampung Kubang Telaga รัฐกลันตัน (Kelanta) ดร.นราวดี กล่าวว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเมืองชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมาแม้การค้าและการท่องเที่ยวเมืองชายแดนระหว่างสองประเทศจะมีจำนวนมหาศาล แต่สำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชนแล้ว ยังขาดการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ผู้คนบริเวณเมืองชายแดนทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งวิถีชีวิต ความเชื่อ ภาษา และลักษณะภูมิประเทศ ดังนั้น เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการต่อยอดผลจากแผนงานวิจัยแนวทางการพัฒนามาตรฐานที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่อาเซียน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปีงบประมาณ 2556 และเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเมืองชายแดน ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 "ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต กลไกการตลาด ภาวะการแข่งขัน และการแย่งชิงเพื่อใช้ทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรสำคัญ ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าด้านการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปตามกระแส จากเดิมที่เคยเดินทางท่องเที่ยวเพียงเพื่อสัมผัสความสวยงามตามธรรมชาติ เปลี่ยนเป็นต้องการเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยว และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยือนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวทางเลือก เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวชนบท เหล่านี้เป็นต้น" รักษาการหัวหน้าสำนักงานวิทยาเขตสตูล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ