“ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด” บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2015 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ไทยออยล์ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 43 – 48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 46 – 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ก.ย. – 2 ต.ค. 58) ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงชะลอตัว โดยล่าสุดดัชนีภาคการผลิตเบื้องต้น (Caixin PMI) ในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนยังคงชะลอตัว ประกอบกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด จากการที่กลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเนื่องจากต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีน หลังดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ขั้นต้นในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลงจาก 47.3 ในเดือน ส.ค. แตะระดับ 47 ต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ซึ่งตัวเลขที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนยังคงชะลอตัวจากดัชนีราคาและอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนตัว โดยตลาดยังคงจับตาดัชนีภาคการผลิต (PMI) ขั้นสุดท้ายในประจำเดือน ก.ย. ที่จะประกาศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตของเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนสร้างความเสียหายให้กับอุปสงค์โดยรวมในภูมิภาค จับตาทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่ประชุมสมาชิกของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ได้มีมติ 9: 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0 - 0.25 ต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว โดย นาง เจเน็ท เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แถลงว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ Fed ตัดสินใจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี Fed ยังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวเนื่อง จากภาคครัวเรือน และการลงทุนมีการขยายตัวมากขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า ทั้งนี้ ตลาดมองว่าการตัดสินใจของ Fed เพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของนโยบาย โดยนักลงทุนบางส่วนได้ปรับการคาดการณ์เรื่องเวลาที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปถึงปี 59 ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยยังคงผลิตน้ำมันดิบเหนือระดับ 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด ตัวแทนกลุ่มโอเปกจากคูเวตได้กล่าวในที่ประชุมที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตต์ว่ากลุ่มโอเปกยืนยันที่จะผลิตน้ำมันดิบในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องเพื่อจะรักษาฐานลูกค้าไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าสมาชิกในกลุ่มโอเปกอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันดิบตกต่ำก็ตาม นอกจากนี้ สมาชิกโอเปกยังมีความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นได้เพียงปีละไม่เกิน 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยจะกลับไปแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้อีกครั้งในปี 2563 อย่างไรก็ดี ตัวแทนกลุ่มมองว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงในตอนนี้เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ ขณะเดียวกันคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนโดยรวมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. ปรับลดลง 19,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ นอกจากนี้ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. ปรับลดลงกว่า 23 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน สู่ระดับ 644 แท่น ซึ่งตลาดมองว่าการปรับลดลงนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีน (NBS PMI, Caixin PMI) ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค-ผู้ผลิต อัตราการว่างงาน ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของยูโรโซน และ ดัชนีภาคการผลิตของ (ISM PMI, Markit PMI) รายได้นอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 ก.ย. 58) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 45.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 48.60 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประกอบกับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ