นิด้าโพล : “พรรคใหม่ นักการเมืองหน้าใหม่ หรือ พรรคและนักการเมืองเดิม ๆ”

ข่าวทั่วไป Tuesday September 29, 2015 10:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "พรรคใหม่ นักการเมืองหน้าใหม่ หรือ พรรคและนักการเมืองเดิม ๆ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 กันยายน 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความต้องการของประชาชนต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองหน้าใหม่หลังจากการเลือกตั้ง อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอที่จะระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า "พรรคการเมืองทุกพรรคต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.68 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นการจัดระเบียบพรรคการเมืองใหม่ ให้มีระเบียบและข้อปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนมากขึ้น เกิดความเท่าเทียมกันทุกพรรค ไม่ต้องยึดติดกับพรรคการเมืองมากเกินไป ไม่ต้องการเห็นระบบเก่า ๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ รองลงมาร้อยละ 15.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่มีความจำเป็น และเกิดประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ยังไงก็ได้ เพราะ ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นกลุ่มนักการเมืองกลุ่มเดิมที่เข้ามาจดทะเบียนภายใต้ชื่อพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งไม่แตกต่างกัน และร้อยละ 12.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านความต้องการของประชาชนที่มีต่อ "นักการเมืองหน้าใหม่" กับ "นักการเมืองหน้าเดิม ๆ" ภายหลังการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.08 ระบุว่า อยากเห็นนักการเมืองหน้าใหม่มากกว่า เพราะ ต้องการเห็นแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งน่าจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาประเทศดีขึ้น คนเดิม ๆ มองแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องและทะเลาะขัดแย้งกัน ไม่ใส่ใจปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ รองลงมา ร้อยละ 29.36 ระบุว่า อยากเห็นนักการเมืองหน้าใหม่และนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน เพราะ จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและการทำงาน ช่วยกันพัฒนาประเทศ คนเก่าก็ช่วยเสริมคนใหม่ หรือช่วยถ่วงดุลอำนาจ ร้อยละ 9.76 ระบุว่า อยากเห็นนักการเมืองหน้าเดิม ๆ มากกว่า เพราะ นักการเมืองที่ตั้งใจทำงานและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างจริงจังก็มีอยู่ ซึ่งคนเก่า ๆ ต่างก็มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า ร้อยละ 3.44 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ จะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ หรือหน้าเดิมก็ได้ ขอแค่ให้เป็นคนดี ตั้งใจทำงานและแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ ต้องการเห็นรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ ทำงานต่อไป และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้งว่าจะมาจาก "พรรคการเมืองใหม่" หรือ "พรรคการเมืองเดิม ๆ ที่เคยบริหารประเทศมาแล้ว" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่า อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 22.88 ระบุว่า อยากเห็นพรรคการเมืองเดิม ๆ ที่เคยบริหารประเทศมาแล้วเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ร้อยละ 5.36 ระบุว่า ควรมีสัดส่วนระหว่างพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองใหม่เท่า ๆ กัน ร้อยละ 2.56 ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารงานต่อไป ร้อยละ 1.60 ระบุว่า เป็นพรรคการเมืองเดิมหรือใหม่ก็ได้ที่ไม่ทุจริต ไม่แสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ร้อยละ 1.20 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ต้องดูที่นโยบายพรรคการเมืองเป็นหลัก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ดูที่ตัวบุคคลมากกว่าที่พรรคการเมือง และร้อยละ 8.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่ กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.52 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคกลาง ร้อยละ 18.08 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 14.24 มีภูมิลำเนาอยู่ ภาคใต้ ร้อยละ 52.48 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.52 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.44 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 19.76 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.44 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 37.04 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 11.04 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 94.40 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.96 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.20 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และ ร้อยละ 1.44 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.84 สถานภาพโสด ร้อยละ 74.56 สถานภาพสมรส ร้อยละ 2.16 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุสถานภาพสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.84 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.84 ระบุว่าจบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.00 ระบุว่าจบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.92 ระบุว่าจบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.72 ระบุว่าจบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 14.40 ประกอบอาชีพ ข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.24 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.88 ประกอบอาชีพ เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.68 ประกอบอาชีพ รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 13.28 ประกอบอาชีพ พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.40 ประกอบอาชีพ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 13.92 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.84 มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ร้อยละ 32.00 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 ร้อยละ 13.20 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 ร้อยละ 6.32 มีรายได้ต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.28 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 ขึ้นไป และร้อยละ 5.44 ไม่ระบุรายได้
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ