กรมประมง..หารือ ส.อาหารแช่เยือกแข็งไทย ช่วยประคองราคาหน้าโรงงาน ไม่ต่ำกว่า 110 บาท พร้อมผลักดันตั้ง กรอ.ทางออกที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งตลอดสายการผลิต

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2015 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กรมประมง จากกรณีของราคากุ้งในประเทศไทยที่ตกต่ำลงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ เห็นได้จากกุ้งขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคาซื้อขายอยู่เพียง 100 บาทต่อกิโลกรัม นั้นกรมประมงได้เชิญ กรมการค้าภายใน สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และผู้ประกอบการแปรรูป มาเจรจาหาทางออกให้กับอุตสาหกรรมกุ้ง เพราะหากปล่อยให้ราคากุ้งตกต่ำอย่างนี้ จะกระทบต่อแผนฟื้นฟูการผลิตกุ้ง เนื่องจากเกษตรกรจะชะลอการปล่อยกุ้งออกไป ประเทศไทยยังคงไม่สามารถป้อนผลผลิตสินค้ากุ้งได้ตามความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ทำประเทศคู่ค้าต่างๆ เปลี่ยนไปเจรจาซื้อขายสินค้ากุ้งจากประเทศอื่นๆ ซึ่งนั่นหมายถึงประเทศไทยจะเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า และสูญเสียรายได้เข้าประเทศไทยไปมหาศาล นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังการหารือ ว่าขณะนี้สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมกุ้งของไทย เรียกได้ว่า ดีขึ้นจากที่วิกฤติหนักในช่วง 1 – 2 ปี ที่ผ่านมาจากสาเหตุของการระบาดของโรค EMS โดยในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผลผลิตกุ้งของไทยเริ่มมีออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก เพราะประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ยังคงให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้ากุ้งของประเทศไทย สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำในวันนี้ ได้แนวทางออกใน 2 ประเด็น คือ 1) ทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยยินดีให้ราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งราคาที่น่าจะทำตลาดได้ ควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 110 บาท ราคาหน้าโรงงานของกุ้งขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาดทุนและสามารถร่วมกันฟื้นฟูผลผลิตกุ้งของประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง 2) มีการเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน เพื่อให้เกิดกลไกของร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งตลอดสายการผลิต ให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างยั่งยืนในอนาคต ส่วนกระแสข่าวที่เกิดความสับสนในขณะนี้ ในกรณีการนำเข้ากุ้งจาก เกาะ Seram ประเทศอินโดนีเซียกรมประมง ขอเรียนชี้แจงว่า ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายห้ามนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อแปรรุปและส่งออกแต่อย่างใด เว้นแต่หากผู้ประกอบการประสงค์จะนำเข้ากุ้งจากพื้นที่อนุญาตของประเทศอินโดนีเซีย ต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมงและผ่านการตรวจโรคไวรัสกุ้งจำนวน 5 โรค รวมทั้งแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคกุ้งตายด่วนอย่างเคร่งครัด และขณะนี้ ยังไม่ได้มีการนำเข้ากุ้งจากประเทศอินโดนีเซียมาในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยหากจะมีการนำเข้าตามที่มีผู้ประกอบการร้องขอมา ก็เป็นการนำเข้ากุ้งขาวมาเพื่อแปรรูปป้อนสู่ตลาดที่ได้มีการcontact ไว้ และเป็นกุ้งไซส์ใหญ่ (20-30 ตัว/กิโลกรัม) ซึ่งไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคากุ้งภายในประเทศตกต่ำลง และไม่เป็นการไปแย่งชิงตลาดกันอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยทางผู้ประกอบการจะยังคงให้ความสำคัญของการซื้อวัตถุดิบกุ้งในประเทศไทยเป็นลำดับต้นก่อน ดังนั้น จึงอยากฝากไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและผู้ประกอบการส่งออก ขอให้ร่วมกันฟื้นฟูการผลิตกุ้งของประเทศไทยและนำตลาดส่งออกกุ้งไทยที่สูญเสียไปกลับคืนมาให้ได้สำเร็จภายในปี 2559 และต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สรุปได้ในวันนี้ หวังว่าจะทำให้ประเทศไทยจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและยั่งยืน ซึ่งเป็นฐานของความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยของเราสามารถกลับมาเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกกุ้งได้อีกครั้ง….

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ