สบร.ขยายภาคีเครือข่ายร่วม “พัฒนาสมองเด็ก” จัดการเรียนรู้ BBL ให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2015 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ไอเดียเวิร์คส์คอมมิวนิเคชันส์ การเรียนรู้ พัฒนาสมองที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของเด็กมีความจำเป็นอย่างมาก ยิ่งในโลกปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงไหลผ่านของสิ่งต่างๆที่รวดเร็วและไม่หยุดนิ่งสำนักงานบริหารและพาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สบร.หรือ OKMD หน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ จึงได้พยายามผลักดันกระบวน "การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-based Learning หรือ BBL)" มาตั้งแต่ปี2548 โดยทำการสังเคราะห์องค์ความรู้ วิจัย พัฒนา ขยายผลและที่สำคัญคือเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง กล่าวว่า สบร.เป็นผู้นำแนวความคิดเรื่องการประยุกต์ใช้หลักBBL มาตลอด 10ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการนำแนวคิด BBL ส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักBBLมาสู่การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อเป็นการบ่มเพาะการเรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมอง รวมถึงการอ่าน ออกเขียนได้ ทั้งในระดับปฐมวัย เด็กประถม จนไปถึงเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มปฐมวัย ที่ได้มีการร่วมกับได้สมาคมโรงเรียนอนุบาล ในการนำเรื่องดังกล่าวไปเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน การผลิตสื่อ เช่น การจัดทำหนังสือเล่มแรกไปสู่เด็ก อ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง ซึ่งเมื่อเด็กมีความรักในหนังสือ ได้สัมผัส รับฟังคำพูดต่างๆ หลากหลาย ยิ่งคนที่อ่านเป็นพ่อแม่ให้เด็กฟัง เด็กจะมีความรู้สึกบวก รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องของความสุข เป็นต้น BBLเป็นรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับโลกขณะนี้ เพราะมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ การอบรมเลี้ยงดูที่สอดคล้องกับธรรมชาติและการทำงานของสมอง ให้เด็กได้ค้นพบตนเอง รู้ศักยภาพของตนเอง มีความสามารถในการเรียนรู้ การทำงาน แก้ปัญหาในด้านวิชาชีพ และการใช้ชีวิตจริง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สบร.ได้เผยแพร่นำเสนอองค์ความรู้เผยแพร่สู่สาธารณชนมากมาย โดยเฉพาะต้นแบบการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองสำหรับเด็กแรกเกิด- 12 ปี ทั้งในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน และการเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก รวมถึงได้พัฒนาต้นแบบสนามเด็กเล่นตามรอยพระยุคลบาท ตามหลักพัฒนาการสมอง "เราจะทบทวนดูว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีองค์ความรู้อะไรที่เผยแพร่สู่สาธารณะได้บ้าง และจะขยายผลต่อเนื่องไปถึงระดับวัยรุ่น วัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยได้กำหนด 4ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ ได้แก่ 1. ถอดบทเรียน สังเคราะห์องค์ความรู้ งานวิจัยในและต่างประเทศ รวมถึงโครงการต้นแบบต่างๆ ทั้งจากที่สบร.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และหน่วยงานที่นำหลักการ BBLไปใช้ รวมถึงริเริ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ อย่าง ความร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสพฐ. ที่ดูแลกลุ่มวัยรุ่น มัธยมศึกษา และเด็กอาชีวะ นำหลัก BBLไปใช้กับกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งการก้าวช่วงจากปฐมวัยไปสู่วัยรุ่นนั้น หน้าต่างแห่งโอกาสจะเปิดอีกครั้ง ดังนั้น เป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาBBLต่อยอดเข้าสู่วัยรุ่นทั้งในด้านการพัฒนาสมอง และช่วยแก้ปัญหาเด็กวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง แม่วัยใส หรือเด็กแวนซ์ต่างๆ" นอกจากนั้น กลุ่มวัยทำงาน จะร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ ในการส่งเสริม และค้นหาสถานประกอบการที่มีการนำหลักการBBLไปใช้แล้วสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพกลุ่มวัยทำงานได้ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ และวัยสูงอายุ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลุ่มนี้ มีบทบาทอย่างมากในสังคม และเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการทำงาน ซึ่งทางOKMD ก็จะเริ่มสังเคราะห์ความรู้ ริเริ่มพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า 2.ขยายภาคีเครือข่ายในการทำงาน เผยแพร่หลักการ BBL ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ สบร.ได้มีการลงนามทำข้อตกลงร่วมกัน อาทิ สพฐ. , สอศ.,สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ,สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย,สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ,กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และบ้าน ชุมชน โรงเรียน เป็นต้น โดยจะร่วมกันขับเคลื่อน สนับสนุน และเชื่อมโยงการทำงาน ที่เน้นการศึกษา สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองทุกช่วงวัย รวมถึงจะมีการทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มหาวิทยาลัยในการร่วมกันนำหลักBBLไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การลงมือทำจริงๆ 3. สบร.จะค้นหาตัวอย่างที่ดี เสริมหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำการเรียนรู้ตามหลักBBLไปใช้ ผ่านตัวอย่างดีๆ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นำไปขยายผลในทางปฎิบัติ เช่น สนามเด็กเล็กต้นแบบ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กทั้งด้านสมอง กายและจิตใจ สนามเด็กเล็ก เป็นสถานที่ที่เด็กต่างวัฒนธรรมได้มารู้จักกัน และเรียนรู้กกติกาของสังคม และการจัดหลักสูตรอบรมพ่อแม่ โรงเรียนไหน หน่วยงานใดมีการนำหลักBBLไปใช้ได้ผลก็จะส่งเสริมขยายผลไปสู่สาธารณชนมากขึ้น และ 4. แสวงหาแนวร่วมจากสาธารณชน คือ ถ้าเราทำผ่านองค์กรจะได้ผลในแง่ของจุดประกาย แต่จะยั่งยืนที่สุดถ้าคนในสังคมไทยเติบโตโดยเข้าใจหลักการของ BBL เช่น ก่อนหน้าที่นี้บอกไม่ให้ครูใช้ไม้เรียว คนในสังคมก็ไม่เข้าใจ และก็มาเรียกร้องว่าพ่อแม่อนุญาตให้ตีได้ แต่หลักการของ BBLจะช่วยสอนให้เห็นว่าเด็กจะเรียนรู้ได้เมื่อเขามีความสุข เมื่อสมองเขาเปิด และหากเด็กทำไม่ได้และตีเขา เขาก็จะยิ่งทำไม่ได้และสมองก็ปิด เราควรใช้หลักการ BBL เข้มงวดได้ด้วยเหตุผล หรือการใช้ความสุขอย่างก่อนเริ่มเรียนให้เด็กร้องเพลง นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย เป็นต้น "ถ้าทุกคนในสังคมเข้าใจหลักการของ BBL และนำมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะผู้บริหาร ครูในทุกระดับตั้งแต่ปฐมวับไปจนถึงมหาวิทยาลัย นำไปสู่การปฎิบัติผ่านกิจกรรม หลักสูตรการเรียนการสอน เช่น ระดับปฐมวัย วัยรุ่นอาจแทรกสอดไปในการเรียนการสอน กิจกรรม การเลี้ยงดูของพ่อแม่ การอบรมครู การสร้างโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ต่างๆ ที่ทำให้เห็นได้ว่าหลักการ BBL ช่วยพัฒนาเด็กให้คิดวิเคราะห์ มีความสามารถในการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิต ส่วนระดับมหาวิทยาลัย นำหลักการ BBL เข้าไปให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิด วิธีเรียนรู้ของสังคมไทย คณะศึกษาศาสตร์ และทุกคณะใช้BBL เป็นกระบวนการเรียนการสอน เป็นต้น ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารและครูได้ อย่างอื่นได้ เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยและคนไทยได้" สังคมไทยมีคนเก่งมากมาย ในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมีครูเก่ง ผู้บริหารเก่ง ครอบครัว มีพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเก่ง และใครๆ ก็อยากให้เด็กไทยเติบโตเป็นคนดี คนเก่ง ช่วยพัฒนาประเทศ คุณหญิง กษมากล่าวทิ้งท้ายว่าเรามีคนเก่งอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะไปใช้เป้าหมาย กติกาอื่นในการดำเนินการและไม่ได้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย แต่หลังจากนี้เมื่อมีการเผยแพร่หลักการเรียนรู้แบบ BBLมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้เด็กทุกคนมีความหมาย ค้นพบว่าตัวเองทำอะไรได้ดี ต้องการอะไร เด็กคิดได้ เพียงแต่ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเปลี่ยนวิธีจูงใจ เป้าหมาย ปรับวิธีคิดของเด็กผ่านการเรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และต้องสร้างต้นแบบที่ดีให้เกิดขึ้น เพราะหน้าต่างแห่งโอกาส การเรียนรู้ เปิดรับองค์ความรู้ได้ในแต่ละช่วย สบร. หรือ OKMD มีบุคลากร มีองค์ความรู้ และมีแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้หลักการพัฒนาสมอง มีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการขยายผล และจะมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน เพื่อผลักดันให้การเรียนรู้ตามหลักการ BBL กลายเป็นการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ที่จะทำให้เด็กไทย คนไทย มีทักษะกระบวนการคิด การวิเคราะห์เชิงลึก ทักษะชีวิต และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ติดตามการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง BBLได้ที่ www.okmd.or.th
แท็ก สมอง   BBL  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ