Movieอาบัติ

ข่าวบันเทิง Wednesday October 7, 2015 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--สหมงคลฟิล์ม กำหนดฉาย 15 ต.ค. 58 แนวภาพยนตร์ ผี-ระทึกขวัญ บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทดำเนินงานสร้าง บาแรมยู ผู้อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ควบคุมการสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สิตา วอสเบียน กำกับภาพยนตร์ ขนิษฐา ขวัญอยู่ บทภาพยนตร์ ขนิษฐา ขวัญอยู่ กำกับภาพ กิตติพัฒน์ จินะทอง ลำดับภาพ ฐิติพันธ์ มหากิจกำพล เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ ออกแบบงานสร้าง ฐิติพันธ์ มหากิจกำพล ออกแบบเครื่องแต่งกาย ศิริวรรณ ก้านชูช่อ ดนตรีประกอบ ออริจิน มิวสิค ฟิล์มแล็บ สยามพัฒนาฟิล์ม บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ ศิวกร สุขลังการ แต่งผม สุขวสา ขัดผาบ ทีมนักแสดง ชาลี ปอทเจส, พลอย ศรนรินทร์, ดนัย จารุจินดา, อรรถพร ธีมากร, พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ และ สรพงษ์ ชาตรี เรื่องย่อ เมื่อความหลงครอบงำผู้ใด ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น... "ซัน" เด็กหนุ่มวัย 19 ปีผู้เอาแต่ใจตนเอง ไม่สนใจใคร และใช้ชีวิตคึกคะนองอย่างสุดขั้ว เขาจึงถูกพ่อบังคับให้มาบวชเณรเพื่อดัดนิสัย การบวชอย่างไม่เต็มใจ ไร้ศรัทธา และด้วยความรู้สึกที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไรนักหนา จึงทำให้ซันยังคงใช้ชีวิตเหมือนปกติทั่วไปแม้จะอยู่ในผ้าเหลืองแล้วก็ตาม รวมถึงการแอบคบหากับ "ฝ้าย" สาววัยรุ่นท้องถิ่นผู้โหยหาในความรักซึ่งเหมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวที่ทั้งคู่มีให้แก่กันและเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ทุกการกระทำที่ท้าทายการอาบัตินี้ ทำให้เณรซันต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ลึกลับชวนขนหัวลุกที่ถูกปกปิดไว้ภายในวัด ทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ของสีกากับพระ, การเผชิญหน้ากับผีเปรตที่ตามมาขอส่วนบุญและทวงคืนชีวิตที่ต่างเชื่อมโยงกันอย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งความผิดที่เขากำลังวิ่งหนี ก็เข้ามาตอกย้ำให้เขาต้องชดใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสยอง...15 ตุลานี้ในโรงภาพยนตร์ เบื้องหลังงานสร้าง ***กรรมใดใครก่อ*** ภาพยนตร์ผีระทึกขวัญเรื่อง "อาบัติ" เป็นผลงานสร้างเรื่องล่าสุดของ "สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล" และ "บาแรมยู" เขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับหญิงหน้าใหม่น่าจับตามอง "ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่" (หนังสั้นเรื่อง "เวลา...รัก" ของเธอเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่อง "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว") "ฝนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพค่ะ ตอนนั้นสมัยที่เรียนอยู่ปี 4 ก็ทำโปรเจ็คต์หนังสั้นขี้นมาเรื่องหนึ่งคือเรื่อง 'เวลา...รัก' ตอนนั้นมีผู้กำกับฯ กับนักวิจารย์เยอะมากที่ได้ไปดูผลงาน มีการตัดสินชิงรางวัลกันในมหาวิทยาลัยฯ แล้วก็ดันไปเข้าตา ได้หลายรางวัลในปีนั้น แล้วหลังจากนั้นก็ส่งประกวดเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2551) ได้ Popular Vote อันดับ 4 มั้งคะ แล้วก็เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทาง GTH ก็เลยมาหยิบเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อเป็นหนังยาวเรื่อง 'ความจำสั้น แต่รักฉันยาว' หลังจากนั้น เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมผลิตหนังไทย ถูกชักนำโดย 'พี่อ๊อด-บัณฑิต ทองดี' กับ 'พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว' ตอนนั้นก็เริ่มหนังเรื่องแรกด้วยการทำคอนทินิวเรื่อง 'ฝัน หวาน อาย จูบ' ของพี่อ๊อดค่ะ แล้วก็ได้ไปทำผู้ช่วยผู้กำกับ 'ความจำสั้น แต่รักฉันยาว' ต่อจากนั้นเราก็เริ่มมีงานเขียนบทเรื่อยๆ มา แล้วปัจจุบันก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษวิชาเขียนบทภาพยนตร์กับวิชาการเล่าเรื่องที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาภาพยนตร์ค่ะ" ***กรรมนั้นตามสนอง*** หลังจากสั่งสมประสบการณ์เบื้องหลังภาพยนตร์ (รวมทั้งการสอนเขียนบท) มาได้ระดับหนึ่ง "ฝน ขนิษฐา" ก็ได้รับโอกาสดีจากค่ายสหมงคลฟิล์มฯ และบาแรมยูในการเขียนบทและนั่งแท่นกำกับหนังใหญ่ครั้งแรกเรื่องนี้อย่างเต็มภาคภูมิ เธอพูดถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ว่า "โปรเจกต์นี้มันเริ่มมาจากน้องคนหนึ่ง สมัยก่อนตอนน้องเค้าบวชเป็นสามเณรก็เล่าให้ฟังว่า สามเณรกับเพื่อนเค้าเนี่ยเห็นผู้หญิงห้อยขานั่งอยู่บนต้นไม้ สวยมาก ไม่ใส่เสื้อผ้าเลย ร่างสวยมาก ทุกอย่างสวย เป็นหญิงไทยแต่ไม่มีหัว เห็นตอนกลางวัน สามเณรวิ่งๆ ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด ด้วยความกลัวผี คนแถวนั้น คนเฒ่าคนแก่เค้าบอกว่า คือ 'ผีเผต' ผีประเภทนี้คือ ผู้หญิงตอนก่อนตายไปมีอะไรกับพระ ตายไปเลยเป็นแบบนี้ เราก็แบบ 'มีแบบนี้ด้วยเหรอเนี่ย' อันนี้คือไอเดียตั้งต้นที่มันโอเคมาก เราก็เลยหยิบไอเดียนี้มา หลังจากนั้นมันก็ถูกพัฒนาเป็นโครงเรื่องประมาณ 1 หน้ากระดาษค่ะ ก็ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ไม่รู้ทำไม มันถูกส่งกลับมาที่เรา ผู้กำกับที่ได้ไปเค้าติดอะไรไม่รู้ สุดท้ายเค้าก็ไม่ได้ทำ ก็เลยวนกลับมาที่เรา ความตั้งใจก็คืออยากเล่าให้มีความน่ากลัว มันตกใจ เรารู้สึกว่าเราไปดูหนัง เราจะจำหนังเรื่องนี้ได้แล้วต้องพูดต่อ เราอยากได้หนังแบบนั้น หนังที่ออกมาแล้วแบบเราขนลุกอันนี้มากเลย เราจะชอบหนังแบบนี้มากกว่า เพราะอะไรเราถึงชอบแบบนั้น สุกท้ายมันคือการเล่าเรื่อง เราอินไปแล้ว เค้ากลัวเรากลัว เค้าเจอเราเอาใจช่วย อยากให้คนดูดูแล้วอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ เรื่องมันคืออะไรกันแน่ นี่น่าจะเป็นความสนุก แล้วบรรยากาศก็เป็นตัวเสริมขึ้นมา หลักสำคัญมากคือเขียนเรื่องอะไรก็ได้แล้วอยากรู้ต่อ ในแง่ของบทถือว่าสำเร็จ เวลาใครที่อ่านบทมาแล้ว คุยกันจะได้คำคอมเมนท์ที่ดี จะได้ไปปรับแก้ พี่ปรัชเคยพูดว่าหนังที่ดีคืออะไร คือมันสนุกในแบบของมัน หนังผีคืออะไร ความสนุกของหนังดราม่าคืออะไร เออ...เราตอบโจทย์เค้าว่าหนังมันสนุก สุดท้ายคนอ่านเข้าใจว่าเราต้องการจะเล่าอะไร กลายเป็นว่าคนอ่านแล้วเอาใจช่วย ต้องทำออกมาให้ได้นะ ในแง่ของบทคือฟินไปแล้ว ที่เหลือก็ต้องไปดู" (หัวเราะ) ผู้กำกับมากฝีมือของวงการ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งผู้ผลักดันและให้โอกาสผู้กำกับหญิงหน้าใหม่รายนี้ได้ลับคมฝีมือในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องต่างๆ รวมถึง "ลูกทุ่ง Actually" ผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของเขาที่จะเข้าฉายเร็วๆ นี้ด้วยปรัชญาได้ฟื้นความทรงจำและพูดถึงความสามารถอันโดดเด่นของขนิษฐา "ผมเจอฝนครั้งแรกก็น่าจะหลายปีมากแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี คือตอนนั้นไปเป็นกรรมการหนังสั้นให้ ม.กรุงเทพ ตอนนั้นก็มีกรรมการหลายท่านไป แล้วทุกคนก็ได้ดูหนังสั้นของฝนเรื่อง 'เวลา...รัก' แล้วก็ลงคะแนนเป็นเสียงเดียวกันว่านี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมาก แล้วหนังเรื่องนั้นทางพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ก็ได้มาดูเลยซื้อไปรีเมกเป็นเรื่อง 'ความจำสั้น แต่รักฉันยาว' ครับ ผมคิดว่าฝนเป็นคนที่เข้าใจชีวิต เข้าใจมนุษย์ เลยทำให้การเขียนบทของเขาเนี่ยมีความนุ่มลึก มี Back Story ของตัวละครหลักค่อนข้างจะละเอียด และนำมาผูกกันได้อย่างน่าติดตาม แล้วหลังจากนั้นผมก็ได้ทำงานร่วมกับฝนอีกในหลายๆ ชิ้น โดยเฉพาะเรื่องของบทภาพยนตร์ ฝนเขาเป็นคนที่รายละเอียดตรงนี้ดีมากๆ ในความเป็นดราม่าที่กินใจจับความรู้สึกได้ นี่น่าจะเป็นเสน่ห์และจุดเด่นในงานเขียนบทของเขา โปรเจกต์ 'อาบัติ' นี้ มันเกิดมาหลายปีแล้ว ผมก็ให้เขาลองนึกถึงหนังผีดูซักเรื่องหนึ่ง แล้วฝนก็พูดถึงเรื่อง 'ผีเผต' เราก็งงว่าผีเผตคืออะไร ต่างจากผีเปรตยังไง ก็ถึงรู้ว่าผีเผตเป็นภาษาอีสาน ก็คือผู้หญิงที่ทำผิดร้ายแรงแล้วตายไปก็กลายเป็นเปรต จากนั้นโปรเจกต์นี้ก็เลยถูกขยายมาเป็นบท เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ก็ใช้เวลาอยู่หลายปีอยู่เหมือนกัน คือตอนแรกก็ยังไม่ได้จะให้ฝนกำกับ มันเป็นโปรเจกต์ที่จะให้เขียนบทอย่างเดียวก่อนครับ จนกระทั่งผ่านกระบวนการคิดและทำงานด้วยกันมาเรื่อยๆ ผมก็เห็นว่าฝนน่าจะกำกับหนังเรื่องนี้ได้เพราะเขาเข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุด คือจริงๆ ฝนเคยทำหนังผีเล็กๆ อยู่เรื่องหนึ่งนะครับ ซึ่งถ้าใครได้ดูจะเห็นว่าเขามีวิธีการเล่าเรื่องที่มีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล มีการเก็บข้อมูลจากเรื่องจริงเข้ามาใส่ค่อนข้างที่จะละเอียดมากครับ ผมว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ ครับ สำหรับภาพยนตร์สเกลใหญ่เรื่องแรกของฝน ทั้งการเขียนบทและกำกับ ในส่วนของผมก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นโค้ช (#ทีมปรัชญา) คอยแนะนำดูทิศทางหนังที่จะเดินไป จุดตรงไหนที่เรามองไกลๆ จะมองเห็น ก็จะแนะนำว่าตรงนี้ควรที่จะเล่ายังไง ซึ่งในเรื่องบทและการเล่าเรื่องนี่ผมก็ชื่นชมมากๆ คือเราจะเห็นได้เลยว่า ตัวละครในเรื่องนี้จะมีรายละเอียดมีตัวตนมีชีวิตทุกตัว เป็นสิ่งที่น่าดูเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่รักการเขียนบทนะครับ แล้วก็อยากให้ทุกคนได้ลองมาพิสูจน์ดูว่า เรื่องราวของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไรก่อนที่จะตัดสินจากแค่เพียงตัวอย่างหนังครับ ก็เข้าใจในสิ่งที่ทางกลุ่มชาวพุทธวิตกกังวลครับ แต่เราก็มั่นใจในสิ่งที่เรานำเสนอ เราไม่คิดทำภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อทำลาย แต่จะทำให้คนดูได้คิด แล้วก็มีตัวอย่างที่ดีและไม่ดีทั้งสองด้านให้ดู แล้วก็บาลานซ์ให้อยู่ในเนื้อหาที่พอดูจบแล้วคนดูก็จะได้ปัญญากลับไป ตอนที่ฝนเขียนบทมา ผมก็มั่นใจแล้วก็เห็นว่าเป็นเจตนาที่ดีที่จะจรรโลงศาสนาพุทธ คือดูจบแล้วเราจะมั่นใจในศาสนาของเรา แล้วก็เข้าใจในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ไม่มีภาพอะไรที่ทำให้ศาสนาเสื่อม แต่จะทำให้ผู้คนได้คิด ตั้งคำถามถกเถียงกันแล้วใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองมัน เรามั่นใจในเนื้อหาว่าเราจะไม่ทำให้ศาสนาเสื่อมแน่นอน ยิ่งหนังมันมีการจัดเรทให้เหมาะสมกับกลุ่มคนดูที่มีวุฒิภาวะเหมาะสมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งมั่นใจมากครับ" ***กรรมหมายถึงกระทำ ถ้าเข้าใจกรรม ก็จะรู้จักบาป*** เอ่ยชื่อภาพยนตร์ "อาบัติ" แล้ว หลายคนคงคิดถึงเนื้อหนังแรงๆ ที่แฉเรื่องฉาวในวงการผ้าเหลือง แต่แท้จริงแล้วความตั้งใจของผู้เขียนบท-ผู้กำกับ "ฝน ขนิษฐา" นั้นต้องการที่จะสะท้อนเรื่องบาปบุญคุณโทษผิดชอบชั่วดีที่สามารถครอบคลุมความเป็นมนุษย์ได้อย่างหมดจดผ่านเประเด็นเรื่องที่แข็งแรงแต่ก็นุ่มนวลในคราวเดียวกัน "คือจริงๆ แล้วฝนพยายามจะเลี่ยง แต่มันเลี่ยงไม่ได้เรื่องพระพุทธศาสนา เพราะมันเป็นไอเดียตั้งต้นของเรา แล้วคำว่า 'ผีเผต' มันคือผีอะไรวะ มันก็ขมุกขมัวอยู่มาก ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานก่อน กูกลัวแบบไหน กลัวผีประเภทไหน เรื่องนี้มีหลายเวอร์ชั่นมากกว่าจะพอใจ พอได้เวอร์ชั่นที่มันโอเค ผ่านการปรับเปลี่ยน ผ่านการพูดคุย เออ...มันควรจะเพิ่มรสอะไร อะไรดีที่แบบทำออกมาแล้วบาลานซ์ความหนักเบา ฝนไม่ถือเป็นเรื่องกดดันนะ ฝนรู้สึกว่าเป็นการสู้กับตัวเอง คือตลอดระยะเวลาทำบท ฝนจะมีคนสำคัญคือ 'อาจารย์เต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์' (ผกก. The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร) แกจะคอยมาจังหวะที่เราแย่ๆ เสมอ อาจารย์จะสอนว่า เราต้องกดดันกับงานนะ เราอย่ากดดันตัวเอง คือมันดีพอหรือยัง แต่ถ้าเรากดดันตัวเอง เราจะทำงานไม่ได้ เราเองจะไม่เกิดความกดดัน แต่ทุกครั้งมันจะเขียนออกมายากมาก มันดีหรือยัง มันใช่หรือยัง ส่วนที่เราไปทำประเด็นนี้ เราเป็นผู้หญิง ฝนจะรู้สึกว่าคนจะเข้าใจทัศนคติที่เรามองหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้วการที่สีกามีอะไรกับพระ ฝนมองว่าความรักมันไม่ผิดนะ ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก มันเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน บางครั้งเราเห็นข่าว เขาอาจจะรักกันก็ได้ แต่มันผิดวินัย ต้องแยกออกมาก่อนว่า ความรักมันไม่ผิด คุณรักใครก็ได้ แต่การที่เราจะทำหรือไม่ทำ มันคือความผิดชอบชั่วดีที่เรารู้ว่าจะทำหรือไม่ทำดีกว่า คุณรักได้มั้ย ได้เลย แต่ถ้าคุณไม่กระทำ ไม่ก้าวเข้าไป คุณผิดมั้ย ไม่ผิดนี่ แต่ถ้าจะบอกว่ารักนะ สึกได้มั้ย รออยู่นะ อันนี้ฝนว่ามันผิดละ มันล้ำเส้นไปแล้ว แล้วเราก็ทำอะไรก็ได้ให้คนดูรู้สึกว่าความรักมันไม่ผิด อยากให้เข้าใจว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งฝนมองว่าความรักมันไม่ผิด มันเกิดขึ้นได้ อันนี้ก็เลยไม่กดดัน แต่แค่เราจะเขียนยังไงดี เพราะเวลาไปนั่งคุย เออ...พี่หนูรู้สึกแบบนี้ อาจารย์หนูรู้สึกแบบนี้ ทุกคนแบบโอเคหมดเลย แต่ทีนี้จะเขียนยังไงล่ะ เออ...นั่นน่ะสิ จะเขียนยังไงดี ไปกดดันตรงนั้นมากกว่า พี่ปรัชก็ให้คำแนะนำว่า ในเรื่องนี้เนี่ยเราอาจจะมีพระที่ไม่ดี แต่สุดท้ายฝนต้องมีพระที่ดี เพื่อที่จะสะท้อนให้คนดูเห็น มันเหมือนการปลดกุญแจบางอย่าง มันโอเคมากเลยค่ะที่พี่ปรัชพูด แต่หลังจากนั้นคือ มันกลายเป็นว่าเราทำการบ้านหนักกว่าเดิม หนักมากมันเหมือนรื้อทั้งหมดใหม่ มันไม่ใช่แค่ผีอย่างเดียวละ คำสอนของพระพุทธศาสนามันมีอะไรบ้าง ฝนต้องการอะไรที่มันเข้าใจง่ายที่สุดเลย เรื่องไหนที่เข้าใจง่าย ทำไมเราถึงไม่เข้าใจ และทำไมเราถึงเข้าวัดอย่างบริสุทธิ์ใจ บางครั้งเราก็แอนตี้กับคนบางกลุ่มที่ทำแบบนี้ ถามตัวเองก่อนเลย รู้สึกใช้เวลา 1 ปีกับการอยู่กับตัวเองอย่างนี้ ซึ่งมันจะมีข่าวนู้นนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วฝนเองบ้านติดวัด พ่อจะไปวัด ก็จะปรึกษาพ่อ อันนี้ทำไมเค้าทำแบบนั้นแบบนี้ พอสุดท้ายเราก็มาได้จุดตรงกลางว่า เราจะแค่เล่าแค่นี้เอง เล่าแค่ผิดชอบชั่วดี แค่นี้หนูว่าเบสิกที่สุดแล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เก็ต ไม่ได้เข้าวัด มันเป็นนามธรรมมากๆ ซึ่งฝนก็ยังไม่เคยเห็นผี กลัวแต่ก็ยังไม่เคยเห็นผี สุดท้ายก็เลยรู้สึกว่า คำสอนมันสากลมากๆ มันฝังมาตั้งแต่ต้นเรื่องผิดชอบชั่วดี สติมันอยู่กับเราตลอด คำสอนจริงๆ มันฝังรากอยู่กับเราทุกๆ คน เพียงแต่เราไม่ได้มามองย้อนมัน และฝนว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด คนที่ทำไม่ดีไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดของเค้าจะทำไม่ดี และมีคนที่เค้าไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่จริงๆ แล้ว เค้าปล่อยให้คนอื่นมองว่า เค้าเป็นคนที่ไม่ดีได้โดยที่เค้ารู้ตัวว่าเค้ากำลังทำอะไรอยู่ ฝนก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ผีจ๋า ฝนไม่ชอบผีหลอก แต่ว่าเราควรจะให้ความเป็นธรรมกับผีบ้าง บางครั้งผีอาจจะมาเพื่อที่จะบอกอะไรเรา ทำไมเราไม่ฟังเค้า ทำไมเราไม่มองย้อนตัวเองบ้าง หนังเรื่องนี้มันอาจจะเป็นหนังที่เรายังไม่ถนัด แต่สุดท้ายเราก็ชอบและรู้สึกว่ามันโอเค" ***ได้แต่ขอเวรกรรมจงตามเธอไป*** ผู้กำกับฯ ได้เคี่ยวกรำบทภาพยนตร์อยู่นานหลายปี กระทั่งได้เนื้อหาเข้มข้นและตัวละครมีมิติว่าด้วยเรื่องราวของหนุ่มวัยคะนองที่จำต้องเข้าไปบวชเณรอย่างไร้ศรัทธา จนในที่สุดก็ได้รับบทเรียนเมื่อเขาริจะก้าวล้ำความสัมพันธ์กับเด็กสาวละแวกวัด รวมถึงการล่วงรู้ความลับดำมืดภายในวัดแห่งนั้นอย่างไม่คาดฝัน "มันเป็นเรื่องของ 'ซัน' เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่บ้านรวย ใช้ชีวิตอย่างคึกคะนอง จนโดนพ่อบังคับให้บวชเพื่ออะไรบางอย่าง วัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาบวชอยู่แล้ว ก็มาบวชในวัดป่าแห่งหนึ่ง เค้าโลกส่วนตัวสูง ไม่สนใจใคร อยากจำวัดแบบสันโดษ ทำตัวพร้อมที่จะอาบัติตลอดเวลา ก็จะมี 'พระทิน' เป็นพระพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเณรคนนี้ให้รู้ผิดรู้ชอบตลอดเวลา ซึ่งเณรก็ไม่ได้อยากอยู่ที่วัดนี้อยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่มันยึดเค้าไว้นั่นคือ 'ฝ้าย' เด็กสาวท้องถื่นที่นั่น เป็นเด็กที่อยู่กับยาย ทั้งคู่มาเจอกัน ชอบพอกัน พูดคุยกันรู้เรื่องด้วยความที่เณรก็เหมือนคนที่เหงามาจากบ้าน ขณะที่ฝ้ายก็รู้สึกว่าเณรคือคนที่เปิดโลกใหม่ให้กับเค้า ในขณะที่เริ่มจะล้ำเส้นความสัมพันธ์ ทำให้เณรเข้าไปรู้เรื่องราวความลับภายในวัดมากขึ้น สุดท้ายสิ่งที่เจอทำให้เณรซันรู้ในตอนท้ายว่าจะเลือกแบบไหน เพราะในขณะที่กำลังจะหนีความผิด ความผิดนั้นก็เข้ามาตอกย้ำตัวเองเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเองก็ต้องมารู้เรื่องราวซึ่งคนในละแวกนี้กำลังต่อกรรมกันอยู่ แล้วเค้าก็กำลังชดใช้มัน ตัวละครแรกที่ต้องพูดถึงคือ 'เณรซัน' (แน็ก-ชาลี ปอทเจส) เป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่อยู่ในครอบครัวที่ตามใจ เอาแต่ใจตัวเอง ใจร้อน มีโลกส่วนตัวสูง มีเหตุและผลที่เขาสร้างมาเอง จริงๆ แล้วเป็นตัวละครที่น่าสงสาร เพราะว่าเค้ารู้สึกว่า เค้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคนที่เค้ารักซึ่งตัวละครชองเณรซัน เวลาทำอะไรจะมีความคิดเป็นของเค้า จะเชื่อจะทำแบบนี้ ถ้าอยากสอนหรือบอกอะไรเค้าคือ ต้องทำให้เค้ายอมรับให้ได้ มีเหตุผลมากพอ ซึ่งไม่ต่างจาก 'ฝ้าย' (พลอย ศรนรินทร์) เด็กผู้หญิงบ้านๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่สิ่งหนึ่งคือฝ้ายมีความคิดเป็นของตัวเองสูงเหมือนกัน มีเหตุและผลในตัวเอง แล้วไม่ได้พอใจกับความเรียบง่ายที่มี อยากที่จะหาสิ่งตื่นเต้น ที่ไม่เคยพบเคยเจอ ฝ้ายนี่เป็นตัวละครที่ชัดเจนมาก เค้ารู้สึกว่าบาปนั่นแหละ หน้าตาแบบไหน เค้าไม่เคยเห็น เพราะสิ่งที่เค้าโดนกระทำ มันไม่เห็นส่งผลถึงคนที่กระทำเลย เพราะฉะนั้นเรามาทำวันนี้ให้มีความสุขดีกว่า ทำให้สองคนนี้จูนกันง่าย คนที่ชีวิตไม่เคยเรียบง่าย โลดโผนมากๆ กลับมาเจอคนที่ชีวิตเรียบง่าย แต่อยากจะโลดโผน ก็มาเจอกัน ใช้ชีวิตบางส่วนร่วมกัน ตัวละครต่อมา 'พระทิน' (กิก-ดนัย จารุจินดา) เป็นพระพี่เลี้ยงที่ผ่านเรื่องราวในชีวิตมากพอสมควร ครอบครัวแตก เค้าถูกทิ้ง มาเจอคนที่ดี มาเจอเพื่อนที่ดี แต่มันไม่ได้จีรัง เค้าเพิ่งมาค้นพบว่า มันไม่ใช่ มันไม่จริง พระทินจึงเป็นตัวละครที่อยู่ระหว่างกลางของการดำเนินชีวิตของเค้า เค้าเป็นคนดี คิดดี เจตนาดี ด้วยความที่เข้าอกเข้าใจวัยรุ่น เค้าจึงรู้ว่าจะแข็งเมื่อไหร่ จะอ่อนตามเณร ให้เณรเชื่อใจไว้ใจได้เมื่อไหร่ เณรซันก็จะค่อนข้างที่จะเชื่อใจพระรูปนี้ 'พระอาจารย์ศีล' (หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร) คือพระอาจารย์ที่พูดน้อยจนเราไม่เข้าใจว่า ทำไมเค้าถึงไม่พูดหรือว่าเค้ารู้สึกอะไร บางครั้งสิ่งที่เค้าเจอ ทำไมเค้าถึงตัดสินใจแบบนี้ ดูไม่ออกว่าเค้าดีหรือร้าย บางครั้งพระที่ดูน่าเลื่อมใสก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอย่างที่เราเห็น เหมือนกับที่ 'คนบ้า' (สรพงษ์ ชาตรี) มันอยากทำไรก็ทำ อยากกินอะไรก็กิน อยากพูด หัวเราะเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ได้มีจริตกับตัวเองว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งต่างกับพระอาจารย์ศีลที่เลือกแบบนี้ เมื่อท่านพูดมีคนฟัง แต่คนบ้าเวลาพูดไม่มีใครอยากฟัง ตัวละครของสองตัวนี้เหมือนเปรียบเทียบแย้งกันอยู่ว่านี่พูดน้อยมีคนฟัง นี่พูดเยอะแต่ไม่มีใครฟัง คนบ้าถ้าเค้าหัวเราะ เค้าคงหัวเราะแค่ความทรงจำเดียวที่มันมีความสุขมากๆ ถ้าร้องไห้ก็คงร้องไห้แค่ความทรงจำที่ทุกข์มากๆ ซึ่งทุกวันมันจะหัวเราะกี่ครั้ง ก็จะจำได้แค่เรื่องเดียวที่สุขที่สุด ร้องไห้ก็จะจำแค่เรื่องเดียวที่ทุกข์ที่สุด เราเลยมองว่าเราเลือกที่จะเชื่อคนดี แล้วดูถูกคนบ้า ซึ่งจริงๆ คนบ้าอาจจะพูดอะไรที่ถูกต้องกว่าก็ได้ 'พิณ' (พิม-พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) เป็นตัวละครที่ตั้งต้นของไอเดีย เป็นตัวละครที่ฝนค่อนข้างรักมาก สวย ใจดี ดูเป็นคนโอบอ้อมอารี เป็นผู้หญิงไทย แต่เป็นคนที่เชื่อเรื่องความรักมากๆ ซึ่งมันคล้ายกับฝ้ายที่มีความรู้สึกว่าความรักหรือครอบครัวมันสำคัญมาก พิณจึงเป็นคนที่น่าสงสาร เค้าห้ามตัวเองไม่ได้ แล้วเค้าก็ถลำลึกลงไป และอยู่กับสิ่งที่รอคอยว่ามันจะต้องโอเคสำหรับครอบครัวของเรา ก็รักตัวละครนี้มาก เพราะรู้สึกว่าเป็นอีกมิติของตัวละครผู้หญิงดี ฝนรู้สึกว่าในแง่ของคนเขียนบท คือเราต้องรู้สึกต้องเข้าใจเค้ามากๆ สร้างตัวละครขึ้นมาตัวหนึ่ง ถามว่าทำไมต้องทำวะ จริงๆ มันมี Back Story ของตัวละครทุกตัวที่ฝนสร้าง แต่ด้วยข้อจำกัดของหนัง มันจะต้องถูกเล่าเท่านี้ มันไม่สามารถมาเล่าตั้งแต่ต้นว่าทำไม เพราะอะไร ในบทเราพรรณนาเยอะ ทัศนคติที่ฝนถือคือเราจะเล่าอะไร กำให้มั่นเลยว่าเราจะเล่าอะไร แล้วเราจะรู้ว่าเราจะถ่ายยังไง พอมันได้แบบนี้ เรานั่งอยู่หน้ามอนิเตอร์ สุดท้ายไอ้สิ่งที่เราจะเล่า พอยัง ถ้ามันโอเคคือพอ แต่ข้อดีของบทก็คือ มันทำให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน ทำงานง่ายมาก ทุกคนเห็น Mood & Tone เหมือนกัน เวลาดูโลเกชั่นดูอะไรต่างๆ มันเป็นประมาณนี้ มันจะคุยกันง่ายมาก ทำไมตัวละครตัวนี้เป็นแบบนี้ เค้าจะเข้าใจหมดเลย เหมือนพอคนในทีมงานเข้าใจ เหลือแต่เราละ ชั้นจะเล่าอะไรยังไง ต้องกำให้แน่นๆ" ***เกิดแต่กรรม*** ทีมนักแสดงคุณภาพทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ในเรื่องนี้ ผู้กำกับและทีมงานก็ได้คัดเลือกตามความเหมาะสมของคาแรคเตอร์และความสามารถของนักแสดงเป็นหลัก ซึ่งเป็นทีมนักแสดงที่ผู้กำกับภูมิใจนำเสนอ และพวกเขาก็สามารถนำแสดงออกมาได้อย่างลงตัวเป็นอย่างยิ่ง "เรามีเวิร์กช็อปกับพลอย, ชาลี, พี่กิก ก็มาเจอกัน เฮฮาตลก จริงๆ ก็เป็นการมาคุยกันว่าตัวละครตัวนี้เป็นยังไง มาลองเล่นกันดูมั้ย มันทำให้การมาเจอกันก็รู้ว่าตรงไหนที่ยังไม่ใช่ เรามองเห็นพลอยเป็นฝ้าย แล้วมันทำให้การกลับไปแก้ไดอะล็อกมันง่ายขึ้น อย่างน้องพลอยจะมองว่ามุมไหนที่น่ารักเลยเลือกดึงมุมนั้นเอามาปรับ เณรซันเหมือนกัน ตอนแรกที่ซ้อมบทถามแน็กไปว่าเล่นรึยัง อ๋อ เมื่อกี้ผมซ้อมบทเฉยๆ ครับ ถ้าแสดงจะนิ่งกว่านี้ งั้นไม่ต้องแสดง เป็นตัวของตัวเองไปเลย เค้าจะนั่งจะเดิน คือมันใช่เลย ส่วนพี่กิกก็จะคุยกันแบบมันต้องเป็นแบบไหน สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ นักแสดงเราคุณภาพมาก ส่วนอาเอก, พี่หนุ่ม, พี่พิม 3 คนนี้เป็นมืออาชีพมากๆ เลย พี่ๆ เค้ามาช่วยให้เราไม่เกร็ง เราตื่นเต้นตลอดเวลาที่พวกพี่เค้าเข้าฉาก เค้าจะเล่นยังไง มันตื่นเต้นว่าเค้าจะเล่นตัวละครที่เราวาดมายังไง แล้วมันดีมาก สนุกมาก มีอะไรประหลาดใจเยอะมาก อาเอกนี่แบบทุกครั้งที่เข้าซีนนี่เหมือนโดนหยุด ตีตั๋วใบละหมื่นมาดู บางครั้งไม่อยากสั่งคัท อยากดูไปเรื่อยๆ อาเอกมีความละเอียด มีพลังมาก ถึงเวลาที่ต้องถ่ายกับอาเอก ฝนต้องทำการบ้านเยอะมาก แล้วอาเอกก็จะช่วยเรา เป็นแบบนั้นแบบนี้ดีมั้ย อาเอกจะมีเหตุผลในการทำแต่ละอย่าง หยิบอันนี้ทำไม จับทำไม ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เหมือนกันกับพี่พิมที่จะถามเราตลอด พี่พิมจะช่วยแม้กระทั่งอยู่หน้าเซ็ต พี่หนุ่มก็เหมือนกัน ตอนแรกจะกลัวมาก ตอนหลังก็ยังกลัวอยู่แต่เริ่มเล่นมากขึ้น พี่หนุ่มมีความจริงจังในเรื่องงาน พี่ๆ เค้าทำให้เราไม่เกร็งที่เราจะพูดกับเค้า เรื่องนี้ได้นักแสดงที่ดี ต้องขอบคุณทุกคนเลย เค้าทำการบ้านมาดี เค้าเข้าใจ บางอันมันมีความยากในการถ่าย แต่เค้าทำให้การทำงานง่ายมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่กับเราทุกคิวคือชาลี ตอนแรกมาเกร็งๆ พอตอนหลังจากเกร็งเป็นเกรียน สนิทกันมาก เล่นกัน สร้างความประหลาดใจให้ฝนอยู่เหมือนกัน เพราะเค้าเล่นตลอดเวลา แต่พอแอ็คชั่นปุ๊บ เค้าเป็นอีกคนหนึ่งเลย เค้าจำได้ เค้ามีรายละเอียดในอารมณ์ของตัวละครตัวนี้ มีความสามารถมาก นี่แอบชม เพราะอยู่ในกอง จะชอบเล่นกันแบบทำตัวดีๆ เทคเดียวผ่านได้มั้ย มีความสุขมากกับนักแสดงทั้งหมดทั้งเซ็ตเด็กและผู้ใหญ่ พวกเค้าทำให้เราทำงานง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ" ***จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด*** สุดท้ายแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" นี้ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอเรื่องราวของบาปบุญคุณโทษและผลของการกระทำที่นำไปสู่บาปในรูปแบบความบันเทิงพร้อมสอดแทรกประเด็นดังกล่าวด้วยเจตนาอันดีให้กับผู้ชมได้คิดไตร่ตรองอย่างมีสติ "ความน่าสนใจของหนังผีระทึกขวัญเรื่องนี้คือ เรื่องราวของมันหรือประเด็นของเรื่อง แค่คำว่า 'อาบัติ' มันก็คือการกระทำผิด ทำให้มันอยากรู้ว่าทำไม เพราะอะไร แต่ว่าหนังผีเรื่องนี้จะแตกต่างจากหลายๆ เรื่องตรงที่มันเป็นหนังผีที่ไม่ได้โฉ่งฉ่างอะไร มันเป็นหนังผีที่กำลังเล่าเรื่องของผีและคน ส่วนเนื้อหาแรงๆ ฝนไม่ได้คิดถึงขั้นโดนแบน แต่คิดถึงกระแสที่มันต้องมีมา ก็ต้องยอมรับกันไป ว่ากันด้วยเหตุผล ก็ไม่อยากให้ไปตั้งแง่หรือเห็นแล้วมันต้องเป็นประเด็นแบบนั้น มันไม่น่าดูแน่ๆ อยากให้ลองดูก่อนแล้วอยากให้คนเปิดใจว่าจริงๆ แล้วหนังมันอาจจะแรง แต่เหตุการณ์จริงและข่าวที่เกิดขึ้นจริงมันแรงกว่าในหนังมาก ซึ่งฝนคิดว่าสุดท้ายเมื่อดูในหนังมันจะตอบคำถามหมดแล้ว สิ่งที่ฝนอยากนำเสนอมากๆ เลยคือบาป บุญ กรรม เวร มันคืออะไร ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การจะทำหรือไม่ทำ สิ่งที่อยากให้คนดูดูหนังเรื่องนี้แล้วเข้าใจคือทั้งหมดเหล่านี้ที่เป็นนามธรรมมากๆ ที่ศาสนาสอนมา ไม่ต้องไปมองหามันคืออะไร สุดท้ายมันก็ฝังอยู่กับเราตลอด เรารู้ตัวเองว่าเราจะทำอะไร เราเลี่ยงไปทำสิ่งนี้เพราะอะไร การทำบุญทำทาน มันคือการสร้างสติ คือเราไม่ต้องไปคาดหวังว่าเราจะได้ผลอะไรกลับมา แต่เราแค่คุยกับตัวเองดีกว่าว่าเรารู้แล้วหรือยังว่าเรากำลังทำอะไร ผิดชอบชั่วดีคืออะไร และทำไปเพื่ออะไร ฝนว่าคือสิ่งที่อยากให้คนดู ดูแล้วมันสะท้อนกลับมา ดูแล้วบันเทิง สนุกกับมัน นอกจากจะได้แง่คิดแล้ว อยากให้คนดูเข้าใจทุกตัวละคร อันนี้สำคัญ เมื่อเข้าใจตัวละครแล้ว เราจะเข้าใจว่ากรรมเวรหรือบาปบุญคืออะไร เราน่าจะอยู่กันได้ง่ายขึ้น หนังมันมีความสนุกของมันอยู่ มีแง่คิดสอดแทรกเข้าไป ความตั้งใจและความมุ่งหวังของฝน ฝนอยากให้มันเป็นเหมือนหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ที่แจกตามวัดที่อ่านง่ายๆ รู้และสำนึกโดยตัวเราเองสำคัญที่สุด ให้คนดูได้รู้จริงๆ สุดท้ายคนเรามันทำผิดกันได้ สังคมมันจะน่าอยู่ยิ่งขึ้นถ้าเราให้อภัยกัน คนเรามันมีผิดพลาดกันได้ ไม่ต้องไปโยนหาว่า ทำไมไม่ได้รับผล บาปหน้าตาเป็นยังไง จริงๆ มันอยู่ที่เรา มันอยู่ที่จิตสำนึกของเรามากกว่า ก็อยากให้สนุกไปกับหนังเรื่องนี้ค่ะ" ฉากไฮไลต์ "ส่วนของโลเกชั่นคือจินตนาการขึ้นมาค่ะ คือวัดป่าน่าจะเป็นแบบนี้ กุฏิน่าจะเป็นแบบนี้ เราก็วาดในหัวเราว่ามันน่าจะมีห้องแบบนี้ สถานที่หนึ่งที่หลุดออกมา เป็นที่ที่เรานิยามว่า 'นรกมันสร้างสวรรค์ขึ้นมา' ก็คือกิเลส เรามองมันว่ามันสวยงามจังเลย มันสุขสบาย มันเป็นที่ที่ให้เราทำผิด ทำบาป จินตนาการขึ้นมาหมดเลยค่ะ ตอนถ่ายทำจริงๆ อยากถ่ายที่อุดรธานีกับอุบลราชธานี ไปไกลๆ ชนบทๆ แต่ไม่ได้ด้วยข้อจำกัด ฝ่ายโลเกชั่นก็พยายามหาที่ที่มันใกล้เข้ามา ก็ไปเจอสถานที่แห่งนี้ ซึ่งมันได้หมดเลย มาเจอที่นี่ปุ๊บ เค้ามีศาลานี้อยู่ มีกุฏิ มีทุกอย่างมันได้หมดเลย จนเรารู้สึกว่าเอาอยู่มากๆ โลเกชั่นของเรื่องอยู่ที่วัดนี้หมดเลย ชื่อ 'วัดนาบุญ' จ.นครนายก มีพระจำวัดอยู่รูปเดียว "ฉากงานบุญข้าวประดับดิน" เป็นฉากที่ฝนชอบมากเลย มันเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ประเพณีความเชื่อ รู้สึกว่าคนต่างจังหวัดเราจะชอบไปทำบุญ เป็นกิจกรรมที่เราได้รวมตัวกัน พูดคุยกัน แต่นี่มันคืองานบุญมารวมตัวกัน เพื่อทำให้คนที่ตาย ความรู้สึกมันไม่ใช่งานศพ บอกไม่ถูก งานนี้เป็นงานที่สวย ให้ความรู้สึกหม่นๆ รู้สึกว่าทุกคนมีคนที่เค้าคิดถึง มารวมตัวกันทำกระทงข้าวน้อย ลึกๆ ในใจคือมีความผิดบางอย่าง มีบางอย่างในใจ งานบุญนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดในเรื่อง ประเพณีนี้เป็นสิ่งเชื่อมระหว่าง 2 มิตินี้เข้าด้วยกัน จริงๆ ตอนนี้ก็ถูกปรับไปตามยุคสมัย จะมาทำกระทงห่อข้าวน้อยกัน มียาสูบ มีข้าวเหนียว พอเข้าแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ข้ามไปเที่ยงคืน จะเอากระทงไปวางไว้ตามต้นไม้ กำแพง มีความเชื่ออย่างหนึ่ง พื้นที่ที่มีบุญคือวัด เพราะฉะนั้นพวกเปรตหรือสัมภเวสีต่างๆ ที่อยากได้บุญก็จะมาที่วัด เค้าก็เอาอันนี้ไปวาง ก็แล้วแต่คน บางคนเยอะหน่อย บางคนก็มาทำให้ญาติพี่น้องตัวเอง แล้วพอหนึ่งปีมีครั้งเดียว มันเลยสำคัญสำหรับเค้า ซึ่งจริงๆ ดูเป็นประเพณีเล็กๆ มากในหมู่บ้าน ปัจจุบันยังมีอยู่ในภาคอีสาน "ฉากในวัด" นี่ก็ชอบหมดเลย วัดนี้มีพระจำนวนน้อย แต่ก็มีพระหลายแบบ มีพระทิน มีเณรจริตเยอะ มีพระอาจารย์ศีลอยู่ในบรรยากาศความเงียบเหงา มันก็จะมีเรื่องราวของมันอยู่ ชอบฉากบิณฑบาต เห็นเดินกันแล้วอยากใส่บาตร ฉากในวัดทั้งหมดเป็นบรรยากาศเล็ก หมู่บ้านเล็กๆ ใส่บาตรกับข้าวเหนียว มันมีเสน่ห์ดี เป็นอะไรที่เรียบง่าย พยายามพาคนหลุดเข้าไปอีกพื้นที่หนึ่ง อีกโลกๆ หนึ่งที่เราอาจจะไม่เคยเข้าไปสัมผัส "ฉากต้นไม้" มันเป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตาย พี่ผู้กำกับภาพให้คำจำกัดความกับสถานที่นี้ว่า "เป็นที่ที่นรกมันสร้างสวรรค์ขึ้นมา" มันเป็นที่ที่สวยงาม สบาย โลเกชั่นมันฉากที่หลุดออกมาจาก Mood & Tone ของหนังทั้งเรื่อง ที่ที่ตัวละคร 3 ตัวคือ พระทิน, เณรซัน และฝ้าย เค้ามาผ่อนคลาย มีเรื่องราวที่นี่ มีเรื่องให้คิดถึง มีเรื่องให้ทำต่อ เหมือนเป็นที่พัก ที่สงบร่มรื่นห่างไกลจากวัด ทำอะไรก็ได้ เป็นที่ที่มาทำผิด แต่มันคือที่ที่ปลอดภัยในความไม่ปลอดภัย "ฉากปะทะทางการแสดง" มีฉากที่บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่การปะทะที่รุนแรง มันเป็นการปะทะกันด้วยอินเนอร์สูงมาก เค้าสู้กันด้วยอะไรบางอย่าง คนบ้าเลือกที่จะแอ็คชั่นแบบนี้ พระอาจารย์ศีลอีกแบบ คือถ้าเราไปดูหนังเรื่องนี้ เราจะต้องเห็นฉากการปะทะกันทางการแสดงที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว หรือฉากของพระทินจะเรียบง่าย แต่ว่ามีบางอย่างที่จะเห็นถึงความรู้สึกในสิ่งที่เค้าจะพูด เหมือนทุกครั้งที่เข้าฉากจะเห็นการแสดงที่น่าประหลาดใจ อย่างฉากเณรซันกับคนบ้า เค้าไม่ยอมกัน ฟัดกัน มันมีพลังมาก ไม่ได้เห็นแบบนี้มานานมาก เป็นการเล่นที่ละเอียดมากของทุกตัวละครและนักแสดง "ฉากอ้วก" คือให้ชาลีอ้วก เราเตรียมอ้วกมา เพื่อจะให้หลอกอ้วก ทำปุ๊บรู้สึกว่ามันไม่ได้เลย เราจะเล่าอะไร อ้วกด้วยความรู้สึกอะไร วันนั้นอยู่กับชาลีแล้วเราก็มีสมาธิมากๆ เราได้ยินเค้าพูดว่า ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการติดคอว่าการแสดงมันเป็นยังไง ด้วยการถ่ายกล้องเดียว มันต้องมาเล่นซ้ำหลายรอบ พยามทำคัทติ้งให้น้อยเพื่อจะได้ให้เค้าเล่นน้อยๆ วันนั้นคุยกันเยอะ แล้วฝนต้องติดคอด้วยเหมือนกัน คุยจนเค้าเล่นได้ จนคนรู้สึกว่าอะไรติดคอชาลี พอถึงจังหวะที่อ้วกจะพุ่งออกมา สิ่งต่างๆ ที่เราเตรียมมา มันไม่เวิร์ก เราก็มองตาชาลี ชาลีบอกผมเข้าใจสายตานี้ดีว่าพี่จะพูดอะไร ผมอ้วกได้ ชาลีจะอ้วกจริงให้ แต่มันใม่ใช่อ้วกธรรมดาไง มันต้องอ้วกออกมาเป็นข้าวเหนียว เราก็ปั้นข้าวเหนียวให้มันเป็นกัอน ก้อนไม่ใหญ่มาก 3-4 ก้อนแล้วก็กลืนลงไปทั้งก้อน หลังจากนั้นก็กินนมเข้าไป พอสั่งแอ็คชั่นปุ๊บก็พุ่งพรวดออกมา มีบางก้อนที่สลาย และมีบางก้อนที่หลุดออกมา คือทรมานมาก วันนั้นประทับใจชาลีมาก มันไม่น่ายากแต่มันยาก ซีนนี้ประทับใจมากแล้วก็จดจำมาก บทบาท-คาแรคเตอร์ เณรซัน (นำแสดงโดย แน็ก-ชาลี ปอทเจส) - เด็กหนุ่มบ้านรวยผู้เอาแต่ใจตัวเอง เขาถูกบังคับให้ต้องมาบวชอย่างไม่เต็มใจ จึงทำให้เณรซันยังไม่ทิ้งนิสัยเดิมๆ การแอบคบหากับ "ฝ้าย" สาววัยรุ่นละแวกวัด ซึ่งทั้งคู่กำลังจะก้าวล้ำความสัมพันธ์ที่ไม่ควร รวมถึงการต้องเข้าไปพัวพันกับความลับอันดำมืดภายในวัดนี้เองที่ทำให้เณรซันได้รับบทเรียนชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ "เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ผมว่าคนกล้าทำหนังแนวนี้น้อย เพราะเสี่ยงที่จะไม่ได้ฉาย เอาจริงๆ ไม่ได้มีอะไรที่แรงเกิน ทุกอย่างมันจบด้วยการสอนที่ดี น่าจะสนุกนะ เป็นหนังพระ มีผี มีเรื่องราวอะไรแปลกๆ ในวัด มีทุกอย่าง เป็นหนังที่เราตั้งใจทำ อยากให้มันประสบความสำเร็จ อยากให้คนเปิดใจมาดูภาพยนตร์เรื่องนี้นะ รับรองว่าสนุกแน่นอน มีหลายอย่างเลยไม่ว่าจะเป็นน่ากลัว มีอะไรให้ลุ้น หักมุมเยอะแยะมากมาย ก็อยากฝากภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผมเรื่องนี้ด้วยครับ" ฝ้าย (พลอย-พลอย ศรนรินทร์) - เด็กสาววัยรุ่นต่างจังหวัด หน้าตาน่ารัก อาศัยอยู่กับยายของตนเองเพียงลำพัง เพราะแม่ของเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่เธอเกิด และพ่อแท้ๆ ก็ดันทิ้งไปอยู่กรุงเทพฯ ฝ้ายมักเข้าวัดทำบุญ ดูเหมือนเป็นเด็กที่เชื่อฟังและว่าง่ายในสายตาของยาย แต่ในความรู้สึกส่วนลึกของเธอจริงๆ แล้วก็แอบรู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่เรียกว่า "บาป" หรือ "กรรม" ด้วยความที่เธอรู้สึกว่าพ่อไม่เคยได้รับผลจากการที่ทิ้งเธอไปแม้แต่น้อย จึงทำให้ฝ้ายต้องการและโหยหา "ความรัก" มาโดยตลอด และเธอก็เชื่อมั่นมากว่าความรักไม่ใช่เรื่องที่ผิด และมันเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด "คือพลอยชอบบทค่ะ ครั้งแรกที่ได้อ่านบท หนูว่าเนื้อหาของเรื่อง 'อาบัติ' มันโดดเด่น หนูชอบ รวมกับทีมนักแสดงด้วย ทั้งพี่แน็ก, อาเอก, พี่กิก, พี่หนุ่ม แล้วก็พี่พิมมารวมทีมกัน แล้วก็ในส่วนของโลเกชั่นสมจริงด้วย เพราะมีการถ่ายในป่าช้าจริงๆ แล้วก็มีการสร้างกุฏิในป่าช้าจริงๆ ด้วย หนังสมัยนี้ไม่ค่อยมีหนังเกี่ยวกับพระซักเท่าไหร่ หนูว่าก็น่าจะเป็นจุดโดดเด่นของหนังเรื่องนี้ค่ะ ทุกคนก็อาจจะชอบเหมือนหนู ก็อยากให้ทุกคนได้ดู เพราะนอกเหนือจากความสนุกของเรื่องราวในหนัง พลอยคิดว่าผู้ชมที่ดูหนังเรื่องนี้ก็จะได้ข้อคิดในเรื่องของบาปบุญ แล้วก็เรื่องของการยับยั้งชั่งใจ แล้วก็ผลของการกระทำที่เกิดขึ้นค่ะ" พระทิน (กิก-ดนัย จารุจินดา) - พระหนุ่มในวัยยี่สิบปลายๆ อดีตพระทินเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ที่วัดตั้งแต่เด็กๆ หลังจากที่แม่ของเขาถูกฆ่าตาย เขาได้ละทิ้งชีวิตทางโลกเพื่อออกบวชและศึกษาพระธรรมมาตลอด จนได้มาเป็นพระพี่เลี้ยงให้กับเณรซัน เณรหัวดื้อที่พระทินอยากจะให้เณรค้นพบสัจธรรมของการดำรงอยู่อย่างมีสติ "เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกสำหรับผมเลย ปกติก็เล่นแต่ละคร มาเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรก ได้บทบาทพระเลยซึ่งไม่เคยเล่น เป็นอะไรที่ท้าทายแล้วก็ตื่นเต้น แล้วก็ได้มารู้วิธีการถ่ายหนัง ซึ่งละครก็จะอีกแบบหนึ่ง พอมาหนังก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ก็สนุกดี ถือเป็นประสบการณ์หนังเรื่องแรก ก็อยากให้คนดูเยอะๆ เป็นหนังที่ใกล้ตัวคนไทย อยากให้มาดูแล้วได้แง่คิดได้อะไรกลับไป คือคนไทยถ้าพูดถึงบาปบุญคุณโทษ ทุกคนกลัวบาปหมด พอดูแล้วรู้สึกว่ากลัว เป็นอะไรที่สะท้อนให้คนดูรู้สึกกลัวบาป กลัวที่จะทำความผิด กลัวเรื่องของเวรกรรม หนังเรืองนี้จะสะท้อนให้คนดูเข้าใจเรื่องบาปกรรม อยากให้มาดูกันเยอะๆ รับรองว่าได้ทั้งความสนุก สาระ แล้วก็แง่คิดครับ" พระอาจารย์ศีล (หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร) - เจ้าอาวาสประจำวัดป่า ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่ดูสงบ พูดน้อย และเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านและพระลูกวัด ท่านจะไม่ดุและบางครั้งอาจจะดูละเลยที่จะเข้มงวดกับเณรซันไป เพราะเหตุนี้จึงทำให้หลายๆ คนไม่เข้าใจถึงความคิดและความรู้สึกจริงๆ ของท่าน "ในมุมของผม ผมรู้สึกว่างานนี้เป็นงานสะท้อนสังคมที่น่าสนใจ รูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ มีความเร้า สำหรับภาพยนตร์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเค้าต้องการจะถ่ายทอดและสื่อสารว่า หน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ คุณเห็นอะไรบ่อย มันสะท้อนและสื่อสารถึงสถานการณ์ ในสังคมปัจจุบัน ในระดับหนึ่งเหมือนกัน ในมุมของความบันเทิงเค้าก็มีเรื่องผีๆ ที่น่าตกใจ ไปดูเหอะ ถ้ามีโอกาสได้ดูควรดู หรือเปิดใจกับสิ่งสะท้อนเหล่านี้ ผมรู้สึกว่า 'อาบัติ' เป็นงานสะท้อนสังคมงานหนึ่ง ถ้าเปิดใจแล้วดูซิว่าผู้กำกับผู้สร้างเค้าต้องการจะสื่อสารอะไร มันอาจจะทำให้เข้าใจ อาจจะเกิดผลบวกขึ้นมากับสังคมได้ไม่มากก็น้อย เพราะเชื่อว่าถ้าคุณได้ดูจะรู้สึกว่านี่แหละคือนรก ฉะนั้นทำดีเถอะ คิดดีเถอะ พิณ (พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) - หญิงสาวชาวบ้านหน้าตาสดสวยที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ วัดเพียงลำพัง เธอเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มเป็นอย่างมาก แต่เธอก็ไม่สนใจใคร เพราะหมดศรัทธาในความรัก และใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจเสมอมา "จริงๆ พิมเชื่อว่าในโลกความเป็นจริงเยอะแยะไปหมด แน่นอนว่าต้องให้อะไรที่เป็นอุทาหรณ์กับท่านผู้ชมด้วย หนังมันค่อนข้างแรงก็จริง แต่เป็นพื้นฐานของความเป็นไทย ถ้าอย่างนั้นเราคงไม่ต้องทำหนังอะไรกันเลย เพราะว่าทุกอย่างมันเอามาจากเรื่องจริง แล้วมันผสมผสานใส่อรรถรสลงไป พิมว่าต้องเปิดกว้าง ทำมาเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนได้ดูแล้วรู้สึกเข้าไปถึงในใจ เพราะคนสมัยนี้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่ค่อยมี ถ้าเราห้ามไปหมด มันก็ไม่มีตัวอย่างให้เห็นให้เชื่อ ถึงแม้ว่าตอนนี้ความเชื่อเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยมี แต่รับรองว่าคุณต้องเจอมันแน่ๆ" คนบ้า (สรพงษ์ ชาตรี) - ชายแก่ผู้เป็นบ้าที่อาศัยอยู่ในวัด แต่เกลียดพระ วันๆ เอาแต่เมา พูดเพ้อเจ้อ และด่าพระเป็นประจำ จนเป็นที่รังเกียจของชาวบ้านแถบนั้น และเหมือนเขาจะล่วงรู้ความลับอะไรบางอย่างในวัดที่ถูกปกปิดไว้ "พูดถึงเรื่อง 'อาบัติ' ชื่อหนังก็สื่อถึงเรื่องพระๆ แล้ว ผมว่ากล้า นายทุนให้คุณทำได้ยังไง ทำไมคุณไม่ทำหนังแนวอื่น เคยถามผู้กำกับว่าแล้วคุณเป็นผู้หญิง คุณไปรู้เรื่องอะไรอย่างนี้ได้ยังไง เค้าบอกว่าพ่อเคยอยู่วัดอยู่วา พ่อจะเป็นคนสนับสนุน มันไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง เค้าบอกศึกษาจากพ่อ เรื่องผีเรื่องอะไรเหล่านี้ ก็ถือว่ากล้า กล้าที่จะนำเสนอ ในเมื่อเขาตั้งใจทำ คนจะรู้เลย เรื่องราวมันแปลกเนอะ มันมีความตั้งใจนำเสนอนะ หนังดีนะ จะน่าเสียดาย ถ้าคนไม่มาดู จะไม่รู้ว่ามันดี เรื่องปัญหาตอนฉายนี่เราก็ต้องดูหนังว่าหลบหลู่ หรือว่าย่ำยี หรือว่าเชิดชู อันนี้สำคัญ อยู่ที่เจตนา ถ้าทำไม่ดีอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ เข้ามาอยู่ในศาสนา แล้วทำให้ศาสนาแปดเปื้อน ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นสาระที่จะได้จากหนังไป" บันทึกผู้กำกับ (Director's Note) แรงบันดาลใจเพียงไม่กี่ประโยคจากเรื่องเล่าของน้องที่รู้จักคนหนึ่ง เขาได้พูดถึง "ผีเผต" (ผีเปรต) ผีผู้หญิงรูปร่างสวยงามแต่กลับไม่มีหัวที่คนเฒ่าคนแก่ตามชนบทท้องถิ่นของภาคอีสานแห่งหนึ่งมีความเชื่อกันว่า เป็นผีสีกาที่ก่อนตายดันไปร่วมรักกับพระสงฆ์ หลังจากแรงบันดาลใจนี้ เรานำมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์อยู่หลายปี โดยรับโจทย์จาก "พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว" และ "พี่อ๊อด-บัณฑิต ทองดี" ว่าต้องเป็น "หนังผี"และแน่นอนว่า หนังผีเป็นหนังแนวที่เราเคยสัญญากับตัวเองเลยว่าจะไม่เขียน เพราะเรากลัวผี... จากการสะกดจิตตัวเองว่า หนังผีนะหนังผี เราก็ค่อย ๆ หาข้อมูลมาเรื่อย ๆ และค้นพบความจริงอย่างหนึ่ง ว่า เปรตไม่ใช่ผี "เปรต คือคนที่ตายไปแล้ว และเกิดใหม่มาเป็นเปรต" จะเกิดใหม่อีกกี่ภพกี่ชาติ ก็จะต้องเกิดเป็นเปรต ทุกข์ทรมานจนกว่าจะหมดบาปที่ตนได้ก่อกรรมเอาไว้ เปรตไม่เคยมาหลอกใคร ใครที่เห็นเปรต คือเปรตตั้งใจให้เห็นเพื่อขอส่วนบุญ จนเกิดความเชื่อกันว่าถ้าใครเห็นเปรตต้องรีบไปทำบุญให้เปรตตนนั้นซะ หลังจากนั้น เปรตก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราทันที เปรตเหมือนเป็นตัวแทนของบาปที่โลกเราในปัจจุบันคิดว่ามันไม่มีตัวตน ซึ่งมันก็ถูกต้องแหละ เพราะตัวเราเองก็ไม่เคยเห็นมันเช่นกัน แต่สุดท้ายเจ้าเปรตนี่แหละที่ช่วยให้เราขับเคลื่อนบทภาพยนตร์เรื่องนี้มาโดยตลอด "อาบัติ" คือภาพยนตร์ผีระทึกขวัญที่เราพร้อมด้วยทีมงานและนักแสดงทุกคนตั้งใจอยากให้มันเป็นภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงและสอดสาระประเด็นของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีบางอย่างเอาไว้สำหรับผู้ชม หน้าหนังอาจดูแรงเกินไปสำหรับใครหลายคน แต่บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้จะตอบคำถามของหน้าหนังทั้งหมดไว้ให้ เราไม่มีเจตนาจะพิพาทใคร เราเพียงอยากให้หนังเป็นแรงสะท้อนกลับไปว่า บาป บุญ หรือกรรมเวรที่ปัจจุบันเราหาตัวตนของมันยาก สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้มันกลับฝังอยู่ในตัวตนของพวกเรามาโดยตลอดต่างหาก แค่เพียงเราเรียนรู้และยอมรับมัน...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ