ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 6 จังหวัด พร้อมแจ้งเตือน 21 จังหวัด เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 9 - 12 ต.ค. 58

ข่าวทั่วไป Friday October 9, 2015 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รายงานสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังใน 6 จังหวัดได้แก่ เพชรบูรณ์ ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมมือ กับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมแจ้งเตือน 21 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาวาตภัย อุทกภัย และดินถล่ม จากภาวะฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 9 – 12 ตุลาคม 2558 โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและวัสดุอุปกรณ์ ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่จากอิทธิพลพายุมูจิแก ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี รวม 10 อำเภอ โดยสถานการณ์ภาพรวมในปัจจุบันหากไม่มีฝนตกเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วัน ยกเว้นจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ค่อนข้างสูง ระดับน้ำทรงตัว หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5 – 6 วัน อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ร่องมรสุมที่พาดบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2558 ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก จะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2558 ปภ.จึงได้ประสานแจ้งเตือนให้ 21 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาวาตภัย อุทกภัย และดินถล่ม จากภาวะฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 9 – 12 ตุลาคม 2558 แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ประกอบด้วย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย และหนองบัวลำภู รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน พื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ