ปภ. รายงานคุณภาพอากาศโดยรวม 7 จังหวัดภาคใต้เริ่มดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤติหมอกควันต่อเนื่องถึงช่วงต้น พ.ย. 58

ข่าวทั่วไป Friday October 9, 2015 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่า ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ภาพรวมฝุ่นละอองหมอกควันมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ แต่ยังคงต้องประสาน 7 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลัง ในการระดมวัสดุอุปกรณ์ควบคุมปัญหาหมอกควัน พร้อมฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควัน ในอากาศ เพื่อควบคุมสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตรุนแรง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่า บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่พัดปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ ว่า ในภาพรวมฝุ่นละอองหมอกควัน มีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ ซึ่งจากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 เวลา 9.00 น. พบว่า 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 52 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังคงประสานให้ 7 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤตหมอกควัน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านพ้นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้หมอกควันไม่พัดปกคลุมภาคใต้ โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ ระดมรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝนละอองในอากาศ ตลอดจนบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังและระดมวัสดุอุปกรณ์ควบคุมปัญหาหมอกควัน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และติดตามข้อมูลข่าวสารคุณภาพอากาศ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ที่มีหมอกควันปกคลุม ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมบริเวณที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกัน มิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ