สบส.พร้อมรับมือ...สังคมผู้สูงอายุ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 13, 2015 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" โดยสมบูรณ์ (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข) คือจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 10 คนในคนไทย 100 คน และจะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านบุคลากรและระบบต่างๆ เพื่อเสริมสร้างหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ การปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ทันสมัยเพื่อที่จะได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด การสร้างหลักประกันและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นองค์กรหลักด้านระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชน โดย น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เน้นการเสริมสร้างศักยภาพ และพัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพภาคประชาชนในการป้องกัน การฟื้นฟู สมรรถภาพและคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ถือเป็นบุคคลที่เปรียบเสมือนญาติกับคนในชุมชนที่มีความเสียสละ จิตอาสาให้ความช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน โดยอสม.จะช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนให้มีสุขภาพแข็งแรง และคุณภาพชีวิตที่ดี อสม.มีบทบาทในการเสริมสร้างจิตสำนึกให้ครอบครัว ชุมชน ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน สำรวจค้นหาผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาให้การดูแลที่ถูกต้อง การเฝ้าระวังสุขภาพผู้สูงอายุ ส่งเสริมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมตามสถานะหรือกลุ่มสุขภาพผู้สูงอายุทั้ง 3 กลุ่ม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.พึ่งตนเองได้ คือ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่น และชุมชนได้ เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีถึงแม้จะมีโรคประจำตัวก็สามารถควบคุมได้ 2.พึ่งตนเองได้บ้าง คือผู้สูงอายุที่ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง มีโรคเรื้อรังอาจจะพิการ/ทุพพลภาพบางส่วนต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน และ3.พึ่งตนเองไม่ได้ คือ ผู้สูงอายุที่ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พิการ/ทุพพลภาพต้องการความช่วยเหลือและต้องดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง อสม.จึงต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อผู้สูงอายุหรือให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมตามอาการ บันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน นำข้อมูลร่วมวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่มโดยใช้หลัก 3 อ. คือ 1. อ.อาหาร กินอาหารหลายประเภทได้สัดส่วนเพียงพออิ่มในมื้ออาหาร 2. อ.ออกกำลังกาย ออกกำลังกายทุกสัดส่วน กระตุ้นจังหวะเต้นของหัวใจ และ3. อ.อารมณ์ อารมณ์ดี ร่าเริงด้วยรอยยิ้ม กลุ่มที่สามารถพึ่งตนเองได้ อ.อาหาร การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย ลดหวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว อ.อารมณ์ ส่งให้ผู้สูงอายุได้ร่วมกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุได้พบปะกับผู้อื่น เพื่อลดความเครียด ให้เป็นจิตอาสา โดยทำงานร่วมกับ อสม.เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยติดเตียง และอ.ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 20 – 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การเดิน วิ่งช้าๆ โยคะ กายบริหาร เป็นต้น กลุ่มพึ่งตนเองได้บ้าง จะต้องรับประทานอาหารเฉพาะโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจหลอดเลือดควรเป็นอาหารประเภทที่เคี้ยวและย่อยง่าย ด้านอารมณ์เน้นการสวดมนต์ สนมนาธรรม และปฏิบัติธรรม หรืองานอดิเรกที่มีคุณค่าทางจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลาย ด้านออกกำลังกาย ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้จะมีโรคเรื้อรัง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และกลุ่มพึ่งตนเองไมได้ ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้จะต้อง รับประทานอาหารตามคำแนะคำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อความเหมาะสมตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น อาหารเหลว อาหารปั่น ด้านอารมณ์ ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัว เพื่อนบ้าน ในการให้กำลังใจ การพูดคุยให้คลายเครียด ความเหงา และด้านออกกำลังกาย ฝึกให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายกล้ามเนื้อขา ฝึกหายใจ และการทรงตัวด้วยตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยเอง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตรียมความพร้อมของอสม.ในชุมชมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีระบบ มุ่งพัฒนาให้เกิดประโยชน์สาธารณะต่อชุมชน และระบบสุขภาพของประเทศไทยเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ