แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ไวรัสเอชพีวี ติดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก มะเร็งองคชาต และหูดหงอนไก่

ข่าวทั่วไป Wednesday October 14, 2015 17:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ แนะฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีมีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงร้อยละ 70 ของเชื้อก่อมะเร็งปากมดลูก และงานวิจัยล่าสุดระบุหากฉีดช้าไปเพียง 2 ปีครึ่ง จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีอย่างคงทนเพิ่มถึง 6 เท่า ผู้หญิงหลายคนคงรู้จักเชื้อไวรัสเอชพีวีว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก แต่คุณผู้ชายทราบหรือไม่ว่าคุณก็ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ได้ ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย จัดงานแถลงข่าว "เอชพีวี...ไวรัสร้าย อันตรายมากกว่าที่คิด" ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี และแนวทางป้องกัน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีอย่างถูกต้อง โดยมีแขกรับเชิญพิเศษและคนดังร่วมรณรงค์ให้ผู้หญิงป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีก่อนที่จะสาย ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า "เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจากสถิติในประเทศแคนนาดา พบว่าทุก 1 ใน 4 ของประชากรเพศหญิงและชายที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ทำให้เกิดโรคทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีอยู่ 15 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงให้เกิดมะเร็งต่างๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกกว่าร้อยละ 70 และอีก 25 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคอื่นๆ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ถึงร้อยละ 90 ตามปกติการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีมักไม่แสดงอาการใดๆ และโอกาสที่ร่างกายจะขจัดเชื้อออกไปเองได้ก็มีสูง แต่หากได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่องหรือมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลานานๆ จะก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชพีวีอย่างคงทน และกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งองคชาติ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอ และโรคหูดหงอนไก่ได้ ในประเทศไทยโรคมะเร็งปากมดลูกพบบ่อยเป็นอันดับ 2 และมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยถึงวันละ 14 คน ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ทั้งการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีมีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงร้อยละ 70 ของเชื้อก่อมะเร็งปากมดลูก แต่กลับยังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย เราจึงควรเร่งให้ความรู้และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น รวมทั้งการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว เพราะคุ้มค่ากว่าทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาโรคมะเร็ง" รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมว่า "นอกจากเชื้อไวรัส เอชพีวี จะเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหูดหงอนไก่ด้วย ซึ่งเกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญง ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยนานนับปี จนเมื่อมีก้อนโตมากไปอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะ จนเกิดอาการคันและปวด บางรายอาจมีเลือดออก ตกขาวผิดปกติ และแสบร้อนที่อวัยวะเพศ แม้ว่าโรคหูดหงอนไก่จะไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่อาจจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและชีวิตคู่ได้ เพราะพบว่าร้อยละ 30 - 70 เกิดซ้ำหลังหยุดการรักษาไป 6 เดือน และหากเกิดหูดหงอนไก่ขณะตั้งครรภ์ อาจขัดขวางการคลอดหรือทำให้ทารกเป็นหูดหงอนไก่ที่คอหอย หลอดลม หรือเส้นเสียงและมีผลต่อการหายใจของทารกจนอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันก่อนการเกิดโรคน่าจะดีกว่า โดยปัจจุบันวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ครอบคลุม สายพันธุ์ที่ 16, 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ได้ สำหรับคุณผู้ชายถือเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเอชพีวี เพราะคุณผู้ชายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถแพร่เชื้อไปให้คุณผู้หญิงได้ แต่ในบางรายหากได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูงเป็นระยะเวลานานๆ ก็เสี่ยงจะทำให้เกิดโรคมะเร็งองคชาต หรือมะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ได้ ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวีในคุณผู้ชาย ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีในคุณผู้ชายจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้น" ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นายกสมาคมกุมารแพทย์ และประธานราชวิทยาลัยกุมารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "จริงๆ แล้ว วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ก็เหมือนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่คนไทยยังเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์หรือแม้แต่ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ก็เขินอายที่จะไปฉีด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฉีดวัคซีนในเด็กจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดในผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีภูมิคุ้มกันเมื่อเติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ได้อนุญาตให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นวัคซีนพื้นฐาน และสามารถฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ส่งผลให้ปัจจุบัน อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศเหล่านั้นลดลง อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อุบัติการเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์รุนแรงที่ก่อโรคมะเร็งลดลงถึงร้อยละ 56 เป็นต้น วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนเอชพีวี ชนิด 2 สายพันธุ์ จะครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งช่องคลอดในเพศหญิง และวัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จะคลอบคลุมสายพันธุ์ที่ 6,11,16 และ 18 ซึ่งมีข้อบ่งชี้ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยวัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งเข็มที่ 2 จะให้ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี ในผู้หญิงและผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีเพียง 2 เข็มก็เพียงพอสำหรับเด็กอายุ 9 -13 ปี ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เด็กเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 26 ปี ก็ยังสามารถฉีดวัคซีนเอชพีวีได้ แต่ต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย เช่น ยังไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีมาก่อน คนในกลุ่มนี้ยังสามารถรับประโยชน์จากวัคซีนได้ แต่วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงหากเคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ชาย การฉีดวัคซีนเอชพีวีนอกจากการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีโดยตรง ป้องกันโรคหูดในอวัยวะเพศและมะเร็งทวารหนักแล้ว ยังช่วยป้องกันทางอ้อมในการลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้หญิงด้วย" ล่าสุดมีงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเอชพีวี โดยความร่วมมือจากกว่า 11 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่การศึกษา โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงฤดีวิไล สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์หน่วยโรคติดเชื้อเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎ หนึ่งในคณะวิจัยเปิดเผยว่า "จากการศึกษาติดตามผลการใช้วัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ในระยะยาว พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นแอนติบอดี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง และยังคงตรวจพบภูมิคุ้มกันในเลือดได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 8 ปี ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ติดตามผลยังพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในเด็ก และการศึกษานี้พบว่า เด็กที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุเฉลี่ย 12.5 ปี จะได้รับการป้องกันการติดเชื้อได้ดีมาก แต่หากฉีดวัคซีนช้าไปเพียง 2.5 ปี ความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชพีวีแบบคงทนจะเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า" จะเห็นว่าเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชพีวี ดังนั้น การเผยแพร่ความรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งร้ายแรง พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีอย่างถูกต้อง ทั้งการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอและการฉีดวัคซีนที่ให้ความคุ้มค่ามากกว่าการรักษาโรคมะเร็งในระยะยาว ที่สำคัญ เพื่อผลักดันภาครัฐให้เห็นความสำคัญของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนอย่างทั่วถึง บรรยายภาพจากซ้ายไปขวา: คุณรถเมล์ คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์, รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายแพทย์วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นายกสมาคมกุมารแพทย์ และ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงฤดีวิไล สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์หน่วยโรคติดเชื้อเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎ, ด.ญ. อันดา - กุณฑีรา ยอดช่าง และคุณนลรรพรรฎ ยอดช่าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ