สมศ. ดึง 3 หน่วยงานการศึกษาร่วมหารือ ปั้น 3 ตัวชี้วัดเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

ข่าวทั่วไป Monday October 26, 2015 20:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. รับนโยบายพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับคณะทำงาน จากกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นต้น โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงาน กรอบการหารือเกี่ยวกับตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ภายใต้ 3 กลุ่มตัวบ่งชี้ ได้แก่ ตัวบ่งชี้พื้นฐาน ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์/เอกลักษณ์ และ ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม การประชุมหารือจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม พ.ศ.2558 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการประเมินคุณภาพภายนอก 3 รอบที่ผ่านมา สมศ. ได้มีการพัฒนาเกณฑ์ตัวบ่งชี้มาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 โดยล่าสุดเพื่อคุณภาพของการประเมินในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (พ.ศ.2559 – พ.ศ.2563) ที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะทำงาน จากหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมหารือ กับ สมศ. เกี่ยวกับตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมิน เพื่อให้ได้ข้อยุติในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ในวันที่ 26-29 ตุลาคม พ.ศ.2558 ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ สมศ. เพื่อกำหนดเกณฑ์ตัวบ่งชี้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา หลักการพัฒนาตัวบ่งชี้ยึดกรอบมาตรฐานทั้ง 4 มาตรฐานตามกฎกระทรวง ได้แก่การบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลการจัดการศึกษา และการประกันคุณภาพภายใน โดยการประเมินจะคำนึงถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ จากผลการจัดการเรียนการสอนของครูโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้กำหนดเป็น 3 กลุ่มตัวบ่งชี้ เพื่อให้การประเมินมีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถกำหนดตัวบ่งชี้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ ความเชี่ยวชาญของสถานศึกษา นำไปสู่การร่วมพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. ตัวบ่งชี้พื้นฐาน เป็นตัวบ่งชี้ที่ทุกสถานศึกษาต้องมีและปฏิบัติได้ตามภารกิจของสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษามีคุณภาพมาตรฐานขั้นต่ำตามที่ สมศ. กำหนดและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ต้องการให้เด็กไทยได้รับโอกาสศึกษาในสถานศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ผลการประเมินจาก สมศ. จะเป็นแนวทางในการให้ต้นสังกัดให้การสนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษาได้ตรงจุด ตรงประเด็น รัฐบาลจะให้ข้อมูล ที่ ถูกต้องเป็นจริง ในการกำหนดนโยบายและให้การสนับสนุน เพื่อให้สถานศึกษาได้พัมนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป 2. ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์/เอกลักษณ์ คือคุณลักษณะของลูกศิษย์ที่เกิดขึ้นตามปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ เป็นตัวบ่งชี้ที่สถานศึกษาต้องกำหนดขึ้นเอง เพื่อให้สะท้อนเป้าหมายที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ โดยตัวบ่งชี้อัตลักษณ์จะเป็นผลผลิตที่ขยายวงจากพื้นที่ห้องเรียนไปสู่พื้นที่รั้วโรงเรียน ส่วนเอกลักษณ์หมายถึง ความสำเร็จตามจุดเน้นและจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา (Best Practice) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา 3. ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม เป็นตัวบ่งชี้ที่ประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้สถานศึกษามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ทำหน้าที่ชี้แนะ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสังคมตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้สถานศึกษาทุกระดับกำหนดเองตามความจำเป็น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อาทิ ปัญหาสุขภาพ อาชญากรรม การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น ดังนั้นตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริมจึงเป็นการสร้างห้องเรียนให้มีชีวิตจากพื้นที่ภายในรั้วโรงเรียนออกไปสู่สังคม ทั้งนี้ สมศ. ได้ถือเป็นหลักปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการพิจารณา ปรับปรุงตัวบ่งชี้ให้เหมาะสมตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 โดยกำหนดเป็นนโยบาย "ลดภาระ สร้างสรรค์ กัลยาณมิตร" อันเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการประกันคุณภาพอันจะส่งผลให้สถานศึกษาสามารถนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาสู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ