PwC แนะภาคธุรกิจ-บุคคลเตรียมรับมือรัฐตรวจเข้มขอคืนภาษี หลังจัดเก็บพลาดเป้า 4 ปีซ้อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 28, 2015 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--PwC ประเทศไทย PwC เผยต่อจากนี้กรมสรรพากรจะตรวจสอบภาษีทุกรูปแบบอย่างเข้มข้น ชี้ขอคืนภาษีต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมและอาจใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบยาวนานขึ้น หลังรัฐจัดเก็บภาษีพลาดเป้า 4 ปีซ้อน โดยล่าสุดปีงบประมาณ 58 พลาดเป้าหมายไป 1 แสนล้านบาท โดยสรรพากรพลาดเป้าหนักสุด ต่ำกว่าประมาณการ 2.35 แสนล้านบาท เหตุปรับโครงสร้างภาษีใหม่ และคงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี รวมทั้งลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แนะภาคธุรกิจและบุคคลเตรียมความพร้อมและรับมือให้ดี พร้อมคาดปีหน้ารัฐบาลคงภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ นาย สมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนากฎหมายและภาษีประจำปีครั้งที่ 17 ภายใต้ชื่อ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ในหัวข้อ 'ปรับกลยุทธ์ด้านภาษี เพิ่มดีกรีรับมือการตรวจสอบ' ว่า ในปีงบประมาณหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีทุกหน่วยงานมีแนวโน้มตรวจสอบภาษีเข้มข้นขึ้น รวมทั้งขั้นตอนการคืนเงินภาษีอาจใช้เวลามากขึ้นด้วย เนื่องจากเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากไม่สามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตามเป้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี แล้ว "การที่สรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เพราะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และการที่รัฐตัดสินใจคงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% เช่นเดิม รวมถึงการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจะพยายามจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น ผ่านการตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดกว่าเดิม" นาย สมบูรณ์ กล่าว จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยตัวเลขการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 - กันยายน 2558) จัดเก็บได้ 2.2 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 117.5 แสนล้านบาท หรือ 5.1% โดยยังพบว่าในปีงบประมาณ 2558 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำสุดเพียง 1.73 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 1.96 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 12% สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงตั้งแต่ปลายปี 2557 ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ แผนกที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องภาษีจะมีความสำคัญมากสำหรับองค์กร รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านภาษีจะต้องมีความโปร่งใส เพื่อสามารถสื่อสารกับประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ข้อกำหนดในการรายงานข้อมูลภาษี (เช่น การลดฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ หรือ Base Erosion and Profit Shifting ที่เรียกว่า 'BEPS' รวมทั้งโครงการริเริ่มในด้านความโปร่งใสอื่นๆในลักษณะเดียวกัน) จะมีการเติบโตแบบทวีคูณและจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วย นาย สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันผู้เสียภาษีควรประเมินสถานะทางภาษีของตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จำเป็น และดำเนินการตรวจสอบตนเอง (Self-review) เพื่อลดโอกาสในการตรวจพบความเสี่ยงในประเด็นที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และก่อนที่เจ้าหน้าที่สรรพากรจะมีประเด็นคำถาม โดยการสำรวจตนเองในที่นี้ รวมไปถึงร่างกฎหมายการกำหนดราคาโอนฉบับใหม่ พระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่ การจัดทำเอกสารภาษีมูลค่าเพิ่ม และ การจ่ายเงินระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ถือเป็นประเด็นที่มักถูกตรวจสอบจากทางภาครัฐ หากมองแนวโน้มในอนาคต มองว่ารัฐบาลควรพิจารณาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ไว้ที่ 7% ต่อไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะหากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงเวลานี้ อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบางได้ ดังนั้นภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปต้องเตรียมให้พร้อม ทั้งด้านเอกสารและข้อมูลตั้งแต่วันนี้ นอกจากนี้ การตรวจที่เข้มข้นอาจขยายผลไปยังภาษีประเภทอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกด้วย นาย สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงและการบังคับกฎหมายภาษีอากรที่เคร่งครัดกว่าที่เคยเป็น ผู้เสียภาษีที่มีความพร้อมจะได้ประโยชน์จากการมีสถานะทางภาษีที่เข้มแข็งกว่า อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และขจัดอุปสรรคในการพัฒนาหรือขยายธุรกิจในอนาคตต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ