ขอเชิญร่วมงานและทำข่าวงาน “ รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ” ครั้งที่ 6 ความมั่นคงชาวเล : กับการพัฒนาอันดามัน วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday October 28, 2015 17:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--มูลนิธิชุมชนไท กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ที่อาศัยหาอยู่หากินบริเวณทะเลอันดามันมาเป็นเวลานานประมาณ 300 ปี ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 41 ชุมชนกระจายในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่ ประชากรประมาณ 13,000 คน กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และ อูรัคลาโวย กลุ่มนี้มีภาษาพูดที่แตกต่างออกไปจาก 2 กลุ่มแรก แต่ทั้ง 3 กลุ่มมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมและสภาพปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน ปัญหาที่สำคัญของชาวเล ประการแรก ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่อยู่อาศัยมายาวนาน ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ทั้งในที่ดินรัฐและที่ดินเอกชนอ้างสิทธิ์ ประการที่สอง ปัญหาสุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ชายหาดริมทะเล จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง ประการที่สาม ปัญหาที่ทำกินในทะเล แต่เดิมชาวเล หากินตามเกาะแก่งและหน้าหาด แต่ปัจจุบันมีการห้ามชาวเลไม่ให้เข้าไปหากินในที่ทำกินดั้งเดิม ประการที่สี่ ปัญหาสุขภาพ มาจากหลายประการ อาทิเช่น ต้องดำน้ำลึกขึ้นทำให้หลายคนต้องพิการ การเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ความยากจน ฯลฯ ประการที่ห้า การศึกษาเด็กเยาวชนชาวเลได้รับโอกาสในการศึกษาน้อยและหลักสูตรไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประการที่หก สูญเสียความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมเพราะขาดการส่งเสริมที่ดี ประการที่เจ็ด การไร้สถานะบุคคล มีชาวเลกว่า 500 คนที่เป็นผู้ไร้สถานะไร้สิทธิพื้นฐาน ประการที่แปด ชาวเลเผชิญกับอคติชาติพันธ์ของคนในสังคม ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า โดยภาพรวม ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มาจากการพัฒนาที่ไม่สมดุลย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐ และอคติชาติพันธุ์ ส่งผลให้เบียดขับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเล ดังเช่น ความต้องการในการใช้ที่ดินและทะเลเพื่อการท่องเที่ยวทำให้ชาวเลถูกขับออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆโดยเฉพาะในหลายพื้นที่ใช้วิธีการที่รุนแรง ข่มขู่คุกคาม ฟ้องขับไล่ การประกาศเขตหวงห้ามของรัฐที่มีมาทีหลัง ทำให้ชาวเลไม่มีสิทธิเข้าไปหากินในที่ทำกินดั้งเดิมที่เคยหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การไม่มีความรู้ทางกฎหมายและปัญหาอคติชาติพันธุ์ของสังคมทำให้ไม่มีความสนใจในการแก้ปัญหาชาวเล ส่งผลให้คุณภาพชีวิตชาวเลตกต่ำ ประกอบกับชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักสงบ มีวิถีหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ไม่สะสม ขาดความรู้เรื่องกฎหมายมักถูกหลอกถูกเอาเปรียบ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมควรปกป้องเพื่อรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพประมง การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษา / ทุน /หลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวเล การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริม วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล ระยะ 5 ปีผ่านไป การแก้ปัญหาต่างๆยังไม่บรรลุผล อันเนื่องจากปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรท้องถิ่น จังหวัด นักวิชาการและชุมชนชาวเล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชุมชนชาวเลขึ้นมา โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทองเป็นประธาน ฯ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา อาศัย ตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 จึงจัดงาน "วันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล"ครั้งที่ 6 ขึ้นครั้งนี้จึงมีการจัดงาน " รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล " ครั้งที่ 6 ขึ้น ภายใต้ชื่อ "ความมั่นคงชาวเล : กับการพัฒนาอันดามัน"วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2558ณ อำเภอเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ จึงขอเชิญบุคคลที่สนใจรวมถึงนักข่าวร่วมทำข่าวเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่และบอกเล่าความลำบากของพี่น้องชาติพันธ์ชาวเล เป็นกระอกเสียงเพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ติดต่อประสานงาน - นายไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง โทร. 089-650-7805 Email : maitreejong@hotmail.com - นายสนิท แซ่ซั่ว 080-521-155
แท็ก อันดามัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ