มธ. ส่งนวัตกรรม “อุปกรณ์พ่นยา DIY Spencer” ต่อลมหายใจผู้ป่วยสามจังหวัดชายแดนใต้พิชิตวิกฤติหมอกควัน

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2015 16:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ ธรรมศาสตร์ฯ นำทีมแพทย์ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แจกจ่ายอุปกรณ์ช่วยพ่นยา "Thai Kid's Spacer" ในโครงการ "ลมหายใจแห่งรักสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบพระชนมายุครบ 88 พรรษา โรคหืดและระบบทางเดินหายใจคือหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง ซึ่งจากสถิติการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย พบว่าในแต่ละปีคนไทยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจสูงถึง 3 ล้านกว่าคน และหากโฟกัสเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้นจากปกติถึง 2 เท่าตัว ในขณะที่ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรคดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 5 โรคที่ชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ป่วยสูงสุดสวนทางกับความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ จากข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงได้ร่วมกับ ฯพณฯ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันพลาสติกจัดทำโครงการ "ลมหายใจแห่งรักสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อแจกจ่าย Thai Kid's Spacer อุปกรณ์ช่วยพ่นยาสำหรับผู้ป่วยโรคหืดและระบบทางเดินหายใจ1,500 ชิ้นให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 30 แห่ง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยพ่นยาราคาถูกฝีมือคนไทย แต่ประสิทธิภาพเทียบเท่าอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศตลอดจนเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบพระชนมายุครบ 88 พรรษา พร้อมทั้งฝึกอบรมแนวทางการตรวจวินิจฉัย การดูแลผู้ป่วย และเทคนิคพ่นยาที่ถูกวิธีแก่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่รับมืออุบัติการณ์แนวโน้มการเพิ่มขึ้นผู้ป่วยในอนาคต รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้คิดค้น นวัตกรรม อุปกรณ์พ่นยา DIY Spacer มาระยะหนึ่งซึ่งได้นำมาใช้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 70 แห่งโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการแจกจ่ายฟรีไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 10,000 ชิ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันพลาสติก จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการ "ลมหายใจแห่งรักสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" พัฒนาอุปกรณ์พ่นยาดังกล่าวเป็น"Thai Kid's Spacer" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอุตสาหกรรมไทยและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และได้ดำเนินการแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศแล้วกว่า 5,000 ชิ้น ตลอดจนยังผลิตอุปกรณ์ช่วยพ่นยาเพิ่มอีก จำนวน 1,500 ชิ้นไปมอบแก่ผู้ป่วยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะในภาวะวิกฤติหมอกควัน โดยมีเป้าหมายกระจายไปยังโรงพยาบาลมากกว่า 30 แห่ง เนื่องจากส่วนใหญ่ประชาชนเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ช่วยพ่นยาเนื่องจากราคาสูง อีกทั้งยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้ในด้านนี้ ด้าน รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะประธานชมรมผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดถึง 4 ล้านคนที่จำเป็นต้องใช้ยาพ่น pMDI โดยยาตัวนี้ในผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ช่วยพ่นยาหรือกระบอกกักเก็บยาที่เรียกว่า "Spacer" เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถหายใจได้ตรงกับจังหวะพ่นยา ทำให้ตัวยาฟุ้งกระจายไปในอากาศโดยเปล่าประโยชน์ และเหลือเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไปสู่ปอดเพียงร้อยละ 60-70 จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการรักษาโดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการพ่นยาไม่ถูกวิธีสูงถึงประมาณ 1,500 คน แต่เนื่องจากกระบอกกักเก็บยาซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศนั้น มีราคาค่อนข้างสูงประมาณชิ้นละ 1,400 บาท ผู้ป่วยจำนวนมากจึงเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ดังกล่าว เฉลี่ยแล้วผู้ป่วยทั่วประเทศมีอุปกรณ์ช่วยพ่นยาเพียงร้อยละ 8 ด้วยเหตุนี้ชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ จึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยพ่นยา DIY Spacer ขึ้นมาโดยสามารถทำเองได้ด้วยมือและอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและประดิษฐ์ไม่ทันการใช้งาน ทางสถาบันพลาสติกจึงหารือร่วมกับชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ คิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยพ่นยาขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อว่า "Thai Kid's Spacer"ให้มีรูปร่างและลักษณะคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาต้นทุนเพียงชิ้นละ 200 บาท และสามารถผลิตได้ครั้งละมากๆ ในรูปแบบของอุตสาหกรรมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของผู้ป่วยทั่วประเทศ "อุปกรณ์ช่วยพ่นยา"DIY Spacer" และ "Thai Kid's Spacer" เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคหืดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากอุปกรณ์นำเข้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้ยาลงได้ เนื่องจากการพ่นยาที่ถูกต้องถูกวิธีจะเพิ่มปริมาณยาที่เข้าไปสู่ปอดได้มากขึ้น ประมาณร้อยละ 30และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในอัตราที่น่าพึงพอใจ ซึ่งพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพ่นยาที่ไม่ถูกต้องไม่ถูกวิธีจึงทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการแย่ลง นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในประเทศที่ภาครัฐต้องแบกภาระอีกด้วย ที่ผ่านมาอุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับรางวัลนวัตกรรมผลงานระดับชาติ 4 รางวัล และไปคว้ารางวัลในเวทีโลกมาแล้วอีก 3 รางวัลโดยขณะนี้ทางทีมนักวิจัยกำลังอยู่ระหว่างนำเสนอผลงานชิ้นนี้ต่อองค์การนามัยโลก ขอรับการสนับสนุนเพื่อผลิตไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง" รศ.พญ.อรพรรณ กล่าว นางศริยา บิลแสละ มารดาของ เด็กหญิงฮานีน บิลแสละ ผู้ป่วยโรคหอบหืด กล่าวว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ประสบปัญหาหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้น้องฮานีนลูกสาวซึ่งป่วยเป็นโรคหอบหืดเรื้อรังตั้งแต่อายุ 2 ขวบ อาการกำเริบจนต้องมาหาหมอที่โรงพยาบาลปัตตานี เพื่อรักษาและพ่นยาบรรเทาอาการจนอาการค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งจากประสบการณ์ดูแลน้องฮานีนทำให้ทราบว่าการพ่นยาด้วยตนเองในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้อุปกรณ์กระบอกช่วยพ่นยา เพราะเด็กและผู้สูงอายุไม่สามารถหายใจเข้าได้ตรงกับจังหวะการพ่น ทำให้ตัวยาไม่เข้าสู่ปอดหรือเข้าไปน้อยกว่าปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งปัญหานี้คุณหมอเน้นย้ำว่าผู้ป่วยอาจอาการแย่ลง แต่เนื่องจากอุปกรณ์ชิ้นนี้มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนตัวจึงรู้สึกทราบซึ่งและขอขอบคุณชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ได้จัดทำโครงการแจกจ่ายกระบอกช่วยพ่นยาให้ประชาชนได้ใช้โดยไม่เสียเงิน ซึ่งนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาลงแล้ว ยังช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรมการมีจิตสาธารณะและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์..มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โทร.02-613-3030

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ