รู้ทันป้องกันไวรัส “โรต้า” วายร้ายทำลายเด็ก

ข่าวทั่วไป Wednesday November 4, 2015 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--มีเดีย เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว มักได้ข่าวการระบาดของโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ทำให้เด็กๆ หลายคนอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน หลายคนอาจมีอาการรุนแรงต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เชื้อไวรัสโรต้า เป็นเชื้อที่มีความทนทานในสภาวะแวดล้อม และมีหลากหลายของสายพันธุ์ ทำให้มีการติดต่อได้ง่าย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ "ไวรัส โรต้า" เพื่อเตรียมรับมือกันได้อย่างถูกวิธี พญ.พัชร เกียรติสารพิภพ กุมารแพทย์ ด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก โดยมักจะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าหนาว ซึ่งแตกต่างจากอาหารเป็นพิษทั่วไป ที่มักจะระบาดในหน้าร้อน เนื่องจากอาหารบูดเสียได้ง่าย โดยเชื้ออาจติดมากับมือ ของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อเด็กสัมผัส และเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยตรงทำให้มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียได้ เด็กทุกคนมีโอกาสเกิดโรคนี้ แต่เด็กบางกลุ่มอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าหรือรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เช่น เด็กที่อยู่ในที่ที่มีเด็กรวมกันมากๆ เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ทารกอายุน้อย มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นต้น เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีอาการ คือ มีไข้ มีน้ำมูกไอเล็กน้อย และมีอาการทางเดินอาหาร ได้แก่ อาเจียน โดยจะรุนแรงมากใน 1-2 วันแรก ปวดท้อง และถ่ายเหลวเป็นน้ำตามมา อุจจาระจะมีลักษณะเป็นน้ำปนลมพุ่ง มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเด็กที่ถ่ายมากอาจมีก้นแดงจากการระคายเคืองจากอุจจาระ เด็กจะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำมาก ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อยากรับประทานอาหาร อาการอาเจียนจะเป็นในช่วงสองวันแรกแล้วดีขึ้น แต่ท้องร่วงจะอยู่นานประมาณ 5-7 วัน วิธีการรักษา คือ ประคับประคองตามอาการ โดยให้สารละลายเกลือแร่กินให้เพียงพอกับที่ร่างกายสูญเสียไป ร่วมกับให้การรักษาอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เช็ดตัวและให้ยาลดไข้ ให้ยาขับลม ยาแก้อาเจียน และให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ในเด็กทารกที่ดื่มนมผสมอาจเกิดภาวะขาดเอนไซม์แลคโตสที่ใช้ย่อยนมวัว ควรเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส หรือให้นมถั่วเหลือง ในเด็กที่ให้นมแม่ ให้นมแม่ต่อไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนนม หากเด็กกินไม่ได้ ต้องให้สารน้ำเกลือทดแทนทางหลอดเลือดดำ ดังนั้นหากเด็กมีอาการ ซึมลง ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลยใน 4-6 ชม. มีไข้สูงหรืออาเจียนมากทำให้ไม่สามารถรับประทานน้ำและเกลือแร่ได้เพียงพอ ปวดท้องหรือท้องอืดมาก ชัก หายใจหอบเหนื่อยอาจบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติแทรกซ้อนควรรีบพามาพบแพทย์ทันที พญ.พัชร เกียรติสารพิภพ กล่าวเสริมว่า การป้องกันไวรัสตัวนี้ติดต่อทำได้ง่ายมาก โดยการไม่สัมผัสกับอุจจาระหรือวัสดุที่ปนเปื้อนกับอุจจาระโดยตรง ดังนั้นการป้องกันการติดต่อที่ดีที่สุด คือ การล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ คนที่ดูแลเด็กก็ควรล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนชงนมหรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หลีกเลี่ยงการนำมือหรือของเล่นเข้าปาก การเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันโรคนี้ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากในนมแม่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ผ่านจากแม่มาสู่ลูก ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้หลายชนิดรวมถึงไวรัสโรต้าด้วย ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ชนิดกินให้ในเด็กอายุ 6 - 24 สัปดาห์ โดยให้ 2-3 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยพบว่า วัคซีนตัวนี้สามารถป้องกันการเกิดโรค โดยเฉพาะการเกิดโรคขั้นรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ