รมว.พม. ชูร้านเบเกอรี่ 60 plus bakery by Yamazaki & APCD เป็นตัวอย่างการสร้างพลังคนพิการ พร้อมกำชับหน่วยงานเร่งสร้างความเข้าใจต่อประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.๒๕๕๘

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2015 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๑๒ พ.ย. ๕๘) เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๘๑/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ขอชื่นชมตัวอย่างที่ดีของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมกันเปิดโอกาสการจ้างงานผู้พิการเข้าทำงาน โดยเฉพาะร้านเบเกอรี่ 60 plus bakery by Yamazaki & APCD ที่ได้รับผู้พิการทางด้านร่างกาย ออทิสติกและผู้พิการทางการได้ยิน เข้าทำงานเป็นพนักงานทั้งฝ่ายผลิต และฝ่ายขาย ซึ่งร้านเบเกอรี่ดังกล่าว ตั้งอยู่บนถนนราชวิถีใกล้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) โดยจะเริมเปิดให้บริการ ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทั้งนี้ ร้านดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวคิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริษัทไทยยามาซากิ จำกัด มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ที่ร่วมกันจัดทำร้าน เพื่อการประกอบอาชีพของคนพิการขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ตนขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนและทุกภาคส่วน ร่วมกันส่งเสริมผู้พิการที่มีความสามารถและเปิดโอกาสจ้างผู้พิการเข้าทำงานมากขึ้น เพื่อให้ผู้พิการมีอาชีพ มีรายได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการพึ่งพาตนเองของคนพิการอย่างยั่งยืน สามารถเปลี่ยนคนพิการให้เป็น "พลัง" ในการพัฒนาครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการ เจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา โดยพ.ร.บ. ดังกล่าว มีเจตนารมณ์แห่งกฎหมายเพื่อช่วยคู่สามีภริยา ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้อง ตามกฎหมายและมีบุตรยากให้มีบุตรได้โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสม ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. อาทิ มาตรา ๒๑ การตั้งครรภ์แทนอนุญาตให้ทำได้เฉพาะคู่สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรส สามีหรือภริยาที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยต้องจดทะเบียนสมรสไม่ต่ำกว่า ๓ ปี และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน มาตรา ๒๙ เด็กที่เกิดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยา ที่ประสงค์จะมีบุตร มาตรา ๓๓ ห้ามสามีและภริยาที่ทำอุ้มบุญ ปฏิเสธรับเด็กเป็นบุตร มาตรา ๒๔ ห้ามตั้งครรภ์แทน เพื่อประโยชน์ทางการค้า มาตรา ๒๗ ห้ามเป็นนายหน้าจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน มาตรา ๒๘ ห้ามโฆษณา ว่ามีหญิงรับตั้งครรภ์แทน และ มาตรา ๔๑ ห้าม ซื้อ เสนอซื้อ หรือขาย หรือนำเข้าหรือส่งออก อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักรับรู้แประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ