ซัมซุง ต่อยอด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” เดินหน้าขยายผลแนวคิดใหม่ หนุนโรงเรียนเครือข่ายซัมซุงฯสร้าง “ภูกระดึงโมเดล”

ข่าวทั่วไป Monday November 23, 2015 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สยามเมนทิส ซัมซุง ชูต้นแบบเครือข่ายการเรียนรู้ "ภูกระดึงโมเดล" ก้าวใหม่การจัดการศึกษาเพื่ออนาคต หลังทดลองนำร่องแนวคิด "บริหารจัดการเชิงพื้นที่" ใน 3 พื้นที่โรงเรียนเครือข่ายซัมซุงฯ ต่อยอด "ห้องเรียนแห่งอนาคต" มาตั้งแต่ปลายปี 2557 ชี้การสร้างเครือข่ายโรงเรียนติดปีกพัฒนาคุณภาพเด็ก ลดช่องว่างทางการศึกษาและตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคตที่เน้นชีวิตจริงและทักษะมากกว่าแค่วิชาการ เตรียมสรุปบทเรียนพร้อมขยายผลสู่โรงเรียนทั่วประเทศ หลังจากดำเนินโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โครงการเพื่อสังคมของซัมซุง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 โดยจัดสร้างห้องเรียนแห่งอนาคต Samsung Smart Learning Center ที่นำนวัตกรรมของซัมซุงและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นธงนำในการจัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในโรงเรียน จนเกิดเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตในโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศ และถือเป็นครั้งแรกในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถผสานแนวคิดสากลมาให้สามารถใช้ได้จริงในบริบทของโรงเรียนในประเทศไทย ล่าสุด ซัมซุงก้าวต่อสู่การขยายผลโมเดลใหม่ผ่านโครงการ โรงเรียนเครือข่ายซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต เป็นการต่อยอดและขยายผลโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต หลังจากซัมซุงดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2556 โดยการดำเนินโครงการระยะแรก มุ่งเน้นการจัดสร้าง "ต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต" โดยสนับสนุนนวัตกรรมซัมซุง เทคโนโลยีสารสนเทศและกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่เด็กสามารถมีส่วนร่วม (Active Learner) และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Self Learner) โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา (Coach) และผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วในโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเกิดผลสำเร็จและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะเป็นการพิสูจน์ว่านวัตกรรม แนวทางและกรอบความคิดในการทำงานของโครงการสามารถใช้ได้จริงในบริบทไทยและสามารถพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินโครงการเพื่อสังคมของเราก็สนับสนุนความเชื่อของซัมซุง ที่เชื่อมั่นว่า การค้นพบจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ เราไม่เพียงช่วยทำให้เด็กสามารถค้นพบศักยภาพ ความสามารถและความสนใจของตัวเอง เรายังพบด้วยว่า เมื่อคุณครูค้นพบศักยภาพของลูกศิษย์ และเห็นว่าเด็กของเขาทำได้ จากคนที่นั่งก้มหน้าหลังห้อง กลับลุกขึ้นมาพูดต่อสาธารณะได้ หรือการที่เด็กหลังห้องกลับมามีตัวตนและรับผิดชอบในงาน การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหล่านี้ช่วยสร้างการค้นพบที่ทำให้ครูกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าเปลี่ยนบทบาทจากครูที่เคยแต่สั่ง มาเริ่มรับฟังและเปิดโอกาสให้เด็ก การค้นพบเหล่านี้กลายมาเป็นพลังที่สำคัญมากที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนอย่างไม่น่าเชื่อ" นางสาวศศิธรกล่าว และว่า การค้นพบที่สร้างพลังนี้เห็นได้ชัดมากเมื่อเราเริ่มทดลองทำโครงการระยะขยายผลในโครงการโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โดยร่วมมือกับโรงเรียนในโครงการปี 1 ที่มีความพร้อมมุ่งเน้นการต่อยอดแนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคตจากห้องเรียนต้นแบบสู่โมเดลการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อพัฒนาแนวทางในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมระหว่างกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาจัดการศึกษาในพื้นที่โดยโรงเรียนเอง นอกเหนือจากหลักสูตรแกนกลางที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ปัจจุบันโครงการมีโรงเรียนเครือข่ายฯ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.โรงเรียนเครือข่าย ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จ.เลย 2.โรงเรียนเครือข่าย ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จ.เพชรบูรณ์ และ 3.โรงเรียนเครือข่าย ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จ.เชียงราย โดยในแต่ละพื้นที่เริ่มต้นดำเนินการในเดือนกันยายน 2557 มีโรงเรียนหลักซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการปี 1 เป็นโรงเรียนแม่ข่าย และมีโรงเรียนอีก 2 แห่งเป็นโรงเรียนลูกข่ายซึ่งคัดเลือกร่วมกันระหว่างโครงการกับโรงเรียนแม่ข่าย โดยซัมซุง สนับสนุนนวัตกรรมของซัมซุงในการจัดสร้างห้องเรียนแห่งอนาคตและงบประมาณในการจัดอบรมเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ คุณครูสุกัลยา ดานา ครูที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนเครือข่าย ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จ.เลย จากโรงเรียนภูกระดึงวิทยาคม กล่าวว่า หลังจากได้รับการชักชวนจากซัมซุง เพื่อทดลองดำเนินการในฐานะพื้นที่นำร่องโครงการโรงเรียนเครือข่ายฯ ทางทีมได้ปรึกษากันและสรุปกันว่าพวกเราอยากทำ เพราะเราเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของซัมซุง ซึ่งในฐานะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการตั้งแต่ปี 1 เราได้ทดลองกระบวนการแล้ว และเห็นชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ในฐานะครู ICT เราเห็นว่าเด็กตื่นเต้นกับอุปกรณ์และห้องเรียนสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่เหมือนห้องเรียนปกติ บางคนก็สนุกกับการลงพื้นที่ไปเรียนรู้ในชุมชน แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การที่ทั้งครูและเด็กได้เรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้ใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กหลายๆ คน "ตอนที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการปี 1 ก็คิดว่าเปลี่ยนเยอะแล้วทั้งครูและเด็ก นอกจากเราจะเอาเด็กหลังห้องกลับมาได้ ครูที่เคยหมดพลังก็กลับมามีพลังใหม่จากการเห็นพลังของอุปกรณ์และกระบวนการ แต่จริงๆ พอเริ่มทำงานเครือข่ายในโครงการโรงเรียนเครือข่ายฯ ต้องเรียกว่า มันยกระดับการทำงานของเราขึ้นทั้งแผง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพครู มาเป็นผู้ฝึกสอน (Trainer) ให้โรงเรียนอื่น เด็กก็ต้องพัฒนาตัวเองมาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งในจุดนี้เอง เราเห็นเด็กเติบโตยกชุดเกือบ 20 คน ภายในเวลาไม่นาน" คุณครูสุกัลยากล่าวและนั่นเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่การเริ่มต้นพัฒนามาสู่ "ภูกระดึงโมเดล" เรื่องนี้ ดร.พิทยา แสงสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้า หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จ.เลย กล่าวว่า หลังจากที่เราทำงานกับโรงเรียนภูกระดึงวิทยาคมและโรงเรียนอนุบาลชุมชนภูกระดึงมาสักพัก เราเริ่มสรุปบทเรียนและเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการโรงเรียนเครือข่ายฯ ได้ผลจริงและน่าจะขยายผลได้กับโรงเรียนในบริบทพื้นที่เหมือนๆ กัน จึงเป็นที่มาของการทำความร่วมมือระหว่างโรงเรียนทั้ง 11 แห่ง โดยครูในโครงการเป็นผู้ริเริ่มและขอการสนับสนุนทุนดำเนินการจากซัมซุง โดยเครือข่ายประกอบไปด้วยโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง โรงเรียนขยายโอกาส 6 แห่ง และโรงเรียนประถมศึกษาอีก 4 แห่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบส่งต่อจากโรงเรียนประถมฯ มายังโรงเรียนมัธยมฯ ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้เด็กด้วย "เราต้องรู้ว่าเด็กในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็กนั้นอาจจะค่อนข้างขาดโอกาสกว่าเด็กในเมืองหรือในโรงเรียนใหญ่ การแบ่งปันทรัพยากรในด้านบุคลากรและความรู้ระหว่างกันจึงเป็นการสร้างโอกาส ผมถึงเชื่อว่าการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ภูกระดึง หรือ "ภูกระดึงโมเดล" จึงถือเป็นการยกระดับคุณภาพผู้เรียนในภาพรวม โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้เรามารวมกันและทำงานร่วมกันได้ เพราะครูอยากทำ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และเป็นอิสระจากกรอบที่ถูกกำหนดโดยระบบ ผมอยากเห็นสิ่งนี้มีชีวิตและเดินหน้าต่อ บางทีสำหรับเด็ก การศึกษาที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตย่อมดีกว่าการเรียนรู้แค่เรื่องวิชาการ การมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาเองสำหรับโรงเรียนในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก" ดร.พิทยากล่าวในที่สุด ปัจจุบัน นอกจากโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จะมุ่งมั่นขยายผล "ต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต" ในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่โครงการดำเนินการไปพร้อมๆ กันคือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ทางการศึกษา ซึ่งเกิดจากความต้องการที่แท้จริงของเด็กและคุณครู โดยมุ่งหวังว่าโมเดลการจัดการเรียนรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กไทยทั่วประเทศตามเป้าหมายที่โครงการได้วางไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ