กินอย่างไร ให้สดใส – ไกลโรค

ข่าวทั่วไป Tuesday November 24, 2015 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--สสส. เพราะการรับประทานอาหารที่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพที่ดี ดังประโยคที่ว่า "you are what you eat" แต่ด้วยยุคปัจจุบันที่ใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบ การรับประทานอาหารจึงเน้นความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก โดยลืมคำนึงถึงความสำคัญของอาหารที่ทานเข้าไป ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยตามมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัด กิจกรรมเสาร์สร้างสุข ภายใต้ SOOK Activity ตอน กินอย่างไร สดใส–ไกลโรค โดยมี นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ร่วมด้วย แพทย์หญิงธิดากานต์ รัตนบรรณางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ร่วมให้ข้อมูล นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ได้แนะนำให้ปลูกฝังสุขนิสัยในการบริโภคที่ดีตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเริ่มจากให้เด็กทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ฝึกให้เด็กไม่เลือกทาน เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์อย่างเต็มที่ "การที่เด็กจะเลือกจะทานหรือไม่ทานอะไรนั้น ผู้ใหญ่ควรจะทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู ถ้าผู้ใหญ่ไม่รับประทานผัก ชอบทานแต่อาหารไขมันสูง การที่เด็กจะทานผักก็เป็นไปได้ยาก วิธีการฝึกให้เด็กรับประทานผักทำได้โดยเริ่มจากหาผักที่ทานง่าย ไม่ขม เช่น ตำลึง ฟักทอง แครอท แตงกวา หลังจากนั้นค่อยหาผักที่รสชาติใกล้เคียงกับผักที่เด็กทานได้ นำมาดัดแปลงเป็นเมนูที่หน้าตาน่ารับประทานเพื่อง่ายต่อการทานของเด็ก นอกจากนี้ควรฝึกเด็กให้รับประทานอาหารให้หลากหลาย ไม่เลือกทาน ควรให้เด็กทานตอนเวลาหิว โดยการไม่ให้เด็กกินจุบจิบ ให้กินเป็นเวลา ลดขนมหวาน เปลี่ยนมาเป็นผลไม้รสไม่หวานจัดแทน ที่สำคัญต้องไม่ลืมกำหนดให้เด็กทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ฝึกให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคอ้วนในวัยเด็ก เพราะถ้าอ้วนตั้งแต่เด็ก โอกาสที่เด็กโตไปเป็นจะโรคในกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อ เช่นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง" นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ กล่าว นอกจากจะปลูกฝังพฤติกรรมสุขนิสัยการทานที่ดีในวัยเด็กแล้ว ทุกๆ วัยก็ยังต้องใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ห่างไกลโรคเช่นกัน แพทย์หญิงธิดากานต์ รัตนบรรณางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ได้อธิบายถึงสาเหตุของปัญหาสุขภาพของคนในปัจจุบันว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง เช่นการทานอาหารที่มีไขมันสูง ทานอาหารรสเผ็ดจัด หวานจัด เค็มจัด การดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ เป็นต้น "อาหารในแต่ละมื้อที่ทานควรจะมี ส่วนแรกคือ แป้งที่ขัดสีน้อย เช่นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ส่วนที่สองคือ โปรตีน ให้เลือกทานโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา สัตว์ปีก ถั่ว ลดอาหารจำพวกเนื้อแปรรูปทั้งหลาย ส่วนที่สามได้แก่ ผัก ผลไม้ ควรรับประทานให้หลากหลายชนิดและทานให้ได้อย่างน้อย 5 กำมือต่อวัน ส่วนในการเลือกใช้น้ำมันสำหรับปรุงอาหารควรเลือกน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่นน้ำมันมะกอก ลดการกินไขมันทรานส์ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน ดื่มน้ำเปล่าจะดีที่สุด นอกจากที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกต้องตามโภชนาการแล้ว ก็ยังต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ มองโลกในด้านบวก ไม่เครียด ก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้อย่างแน่นอน " แพทย์หญิงธิดากานต์ กล่าว เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตประจำวันเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นได้อย่างอัศจรรย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ