ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์” เป็น “BBB-” จาก “BB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 25, 2015 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท หลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ"BBB-" จากระดับ "BB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของฐานทุนของบริษัท ตลอดจนการรักษาความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตขององค์กรอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ แรงกดดันจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจหลักของบริษัทคือสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ของไทย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงจากความไม่สอดคล้องกันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินบางส่วนของบริษัทด้วย การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงนโยบายเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในการทยอยให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นแก่บริษัทหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ความสำเร็จของธุรกิจดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าภาวะตลาดหลักทรัพย์จะมีการเคลื่อนไหวในแนวโน้มที่คงที่และไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากความคาดหมายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยที่บริษัทจะยังคงรักษาผลประกอบการและฐานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจหลักทรัพย์จะสามารถสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทในอนาคตได้ตามแผนโดยที่บริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนจาก ต.ล.ท. อย่างต่อเนื่องต่อไป การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หรือความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์เป็นสาเหตุให้บริษัทมีผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์มีเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังจากการเพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2557 โดยในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 บริษัทได้เพิ่มทุนจำนวน 532 ล้านบาทโดยการขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ ต.ล.ท. กระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน ทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,016 ล้านบาทเป็น 1,549 ล้านบาท โดย ต.ล.ท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 40.65% ตามด้วยกระทรวงการคลัง 10.56% และธนาคารออมสิน 9.5% นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือหุ้นอื่น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกจำนวน 11.89% บริษัทหลักทรัพย์ 10.9% บริษัทจัดการกองทุน 9.7% บริษัทประกัน 2.82% และอื่น ๆ อีก 0.03% ด้วย อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อสินทรัพย์รวมแข็งแกร่งขึ้นจาก 29.3% ในปี 2552 เป็น 52.39% ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 จากการหักขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากการลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขาย ภายหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ในเดือนเมษายน 2552 แล้ว ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และแข็งแกร่งกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจตามแผน โดยบริษัทสามารถทำกำไรจำนวน 25 ล้านบาทในปี 2556 และต่อเนื่องเป็น 41 ล้านบาทในปี 2557 และ 37 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,145 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในสัดส่วน 88% หรือ 2,753 ล้านบาท บริษัทยังคงเผชิญกับความท้าทายในธุรกิจหลักด้วยเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและความท้าทายในตลาดหลังจากที่บริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์อื่น ๆ ได้ขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วในระหว่างปี 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งทำให้ขนาดของสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมขยายตัวจาก 16,000 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 59,000 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2558 ผลกระทบจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 ทำให้พอร์ตสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงอย่างมากจาก 6,377 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2551 เป็น 2,666 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2558 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงอย่างมากและต่อเนื่องจาก 24% ในเดือนกันยายน 2551 เหลือ 4.5% ในเดือนมิถุนายน 2558 จากสาเหตุที่บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ภายหลังการเพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทก็สามารถลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงได้ โดยบริษัทได้ทำการหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวใหม่ ๆ เพื่อนำมาจ่ายคืนเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ปัจจุบันบริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทได้รับวงเงินกู้จำนวน 6,390 ล้านบาทจากสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่ง ในด้านคุณภาพของสินทรัพย์นั้น ในปี 2556 บริษัทได้พัฒนาและใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นในการจัดระดับของหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวช่วยสะท้อนระดับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันและช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ได้โดยมีความเข้มงวดในการเรียกหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) และการบังคับขาย (Forced Sell) รวมทั้งคงเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อและหลักประกันที่เข้มงวดกวดขันต่อไป บริษัทมีแผนในการกลับมาทำธุรกิจให้สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์อีกครั้งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือการให้สภาพคล่องแก่บริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อประเภทใหม่ถือว่าท้าทายความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทก็ยังมีผลงานในสินเชื่อประเภทใหม่ดังกล่าวไม่มากนักด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) (TSFC) อันดับเครดิตองค์กร: BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ