FPI กอดคอพันธมิตรร่วมชิงเค้กโรงไฟฟ้าชีวมวล เฟสแรก 36 MW ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มั่นใจศักยภาพพร้อมทุกด้าน! ไม่มีปัญหาจัดหาวัตถุดิบ-แหล่งเงินทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 30, 2015 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--IR network บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) ควงพันธมิตรประกาศความพร้อมก่อนใคร ร่วมชิงเค้กโรงไฟฟ้าชีวมวล เฟสแรกขนาดกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา "สมพล ธนาดำรงศักดิ์"มั่นใจพร้อมทุกด้าน ไม่มีปัญหาการจัดหาวัตถุดิบ-แหล่งเงินทุน คาดหากคว้าใบอนุญาตได้สำเร็จ ใช้เวลาก่อสร้าง 15-18 เดือน จ่ายไฟเข้าระบบภายในไตรมาสที่ 4 ตามแผน นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า บอร์ดของบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล (Biomass Power Plant) โดยการเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งใหม่รวม 5 บริษัท เพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลรับคัดเลือกและอนุญาตเป็นผู้เสนอขายไฟฟ้า เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแต่กรณีไป คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นเท่ากับ 8.96 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ "การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อยื่นประมูลให้ได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในไตรมาส 1 ของปี 59 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนถึงจำนวนบริษัทที่จะสามารถชนะการประมูลเพื่อได้มาซึ่ง PPA รวมถึงเงินลงทุนที่บริษัทฯ จะใช้ในการดำเนินโครงการทั้งหมด ดังนั้นภายหลังทราบผลการเข้าประมูล ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559 แล้ว บริษัทฯ จะต้องแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งทรัพย์สินต่อไป"นายสมพลกล่าว ก่อนหน้านี้ FPI ได้ร่วมกับบริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วิชญ์ อุตสาหกรรม จำกัด (WIT) และกลุ่มผู้ประกอบการโรงไม้ หรือโรงเลื่อยไม้ ในเขตพื้นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าในแต่ละแห่ง ตั้งเป้าประมูลใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 120 เมกะวัตต์ ขายให้กับกฟผ. และกฟภ. "เรามีความพร้อมทุกด้านในการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาพใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งจะยื่นซื้อซองในวันที่ 1-7 มีนาคม ปี 2559 โดยแต่ละรายจะเข้าลงทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้น ซึ่งในส่วนของ FPI ยืนยันว่าไม่มีปัญหาในเรื่องของเงินที่ใช้สำหรับลงทุน เนื่องจากเตรียมใช้เงินที่ได้จากการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (วอร์แรนต์) ที่ออกในช่วงก่อนหน้า"นายสมพลกล่าว ทั้งนี้ คาดว่าหาก FPI และพันธมิตร ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าอัตราแผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ 15-30% คาดประมาณ 3 ปี หรืออย่างช้าไม่เกิน 7 ปี ก็จะสามารถคืนทุนได้ทั้งหมด โดยใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 15-18 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีนโยบายการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯ คือ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, บริการรับออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตแม่พิมพ์พลาสติก, รับจ้างฉีดชุบโครเมียม, พ่นสี, ประกอบ ชิ้นงานทุกประเภท โดยในอนาคต บริษัทฯ มีแผนจะขยายการดำเนินธุรกิจไปในด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass Power Plant) ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯ เข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งใหม่รวม 5 บริษัทดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ