One Young World Summit 2015 เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ณ กรุงเทพมหานคร รวมเยาวชนรุ่นใหม่กว่า 1,450 คน จาก 196 ประเทศ รวมพลัง “คิด เปลี่ยน โลก”

ข่าวทั่วไป Tuesday December 1, 2015 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ One Young World 2015 การประชุมนานาชาติของเยาวชนคนรุ่นใหม่จากนานาประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และนับเป็นครั้งแรกของการจัดงานในเอเชีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและจุดประกายให้คนรุ่นใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์อันจะนำไปสู่การพัฒนาโลกให้น่าอยู่กว่าเดิม โดยมี กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้สนับสนุนด้าน กลยุทธ์ และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเป็นทางการ พิธีเปิด One Young World 2015 จัดขึ้นที่อย่างยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ภายใต้แนวคิด "ความหลากหลายที่ลงตัว (Harmonic Diversity)" สื่อความเป็นมหานครแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตของกรุงเทพฯ ท่ามกลางสายตาผู้นำและคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่มาร่วมงานกว่า 1,300 คน จาก 196 ประเทศ เริ่มจากการแสดงชุด "Bangkok Beat" กับเสียงกึกก้องของกลองไทย 4 ภาค จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวเปิดงาน ตามด้วยคำกล่าวจากแขกรับเชิญซึ่งเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก อาทิ โคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2549 และ เซอร์บ็อบ เกลดอฟ นักดนตรีและนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีชื่อเสียง และปิดท้ายด้วยพิธีเชิญธงโดยตัวแทนผู้นำจากทั้ง 196 ประเทศ ในการประชุมวันแรก โคฟี่ อันนัน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ปารีส พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกคนยึดมั่นในคุณค่าของประชาธิปไตย อย่ายอมให้ความกลัวเข้าครอบงำ และอย่าละทิ้งคุณค่าที่ทุกคนต้องปกป้อง นั่นคือ เสรีภาพ และความเสมอภาพ ตลอดช่วงสามวันของการประชุม หัวข้อหลักในการสนทนาประกอบด้วย การศึกษา สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ภาวะผู้นำและการปกครอง และสันติภาพและความปลอดภัย กมลนันท์ เจียรวนนท์ ตัวแทนผู้นำเยาวชนไทย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อสิทธิมนุษยชน โดยบอกเล่าถึงประสบการณ์จากการได้เดินทางไปยังภาคเหนือของไทยติดชายแดนพม่า และได้พบกับผู้หญิงไร้สัญชาติคนหนึ่ง ที่ยังเปี่ยมด้วยรอยยิ้มสดใสเปล่งประกาย แม้ถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศและตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์อยู่เป็นเวลาหลายปี และนั่นกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เธอก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรขึ้น ชื่อ "Voices" ร่วมกับเพื่อนสนิทด้วยเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้าย โดยเฉพาะคนที่ไร้สัญชาติ เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพของตัวเอง และบนเวทีเสวนาในหัวข้อการศึกษา ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านการศึกษา แก่ ไซรา ฟารุค ผู้นำรุ่นใหม่จากปากีสถาน ซึ่งกล่าวถึงปัญหาที่ผู้หญิงในประเทศของเธอถูกกีดกันทางการศึกษา เนื่องจากทัศนคติและค่านิยมของสังคมที่กำหนดผู้หญิงไว้สำหรับการดูแลครอบครัว และอยากเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้บทบาทของผู้หญิงในสังคม และปิดช่องว่างทางเพศโดยการให้โอกาสผู้หญิงได้รับการศึกษาที่ดี นอกจากนั้น ศุภชัย เจียรวนนท์ ยังได้ขึ้นกล่าวในช่วง "Special Session" หัวข้อ "การเชื่อมโยงที่แท้จริง (True Connectivity" ว่า หลายคนอาจจะคิดว่าเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงคนทั้งโลกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามตนเองในฐานะที่อยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารที่ความเร็วมีความสำคัญสูงสุดนั้น กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป เพราะโดยแท้จริงแล้วเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารเท่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ บนโลกตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ตที่ไม่เท่าเทียมกัน จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนต่างๆ ที่มีโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ที่แตกต่างกัน หรือ Digital Divide "ยิ่งเทคโนโลยีทันสมัยเท่าไร ยิ่งทำให้เราห่างไกลกันมากขึ้น และเราไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีในการช่วยลดช่องว่างในสังคมลงได้" ติดตามด้วยกิจกรรม External Breakouts นำผู้นำรุ่นใหม่ไปศึกษาดูงานของมูลนิธิออทิสติกไทย โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนา Autistic Application เพื่อช่วยเสริมทักษะและเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจแก่บุคคลออทิสติก จนได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2556 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอาชีพให้แก่บุคคลออทิสติกโดยการทำงานในร้านกาแฟ True Coffee เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตได้ในสังคม ส่วนพิธีปิด จัดขึ้นที่สนามรักบี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยพิธีส่งมอบคฑาสัญลักษณ์การจัดงาน (Baton Moment) จาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากทม. สู่จิม วัตสันนายกเทศมนตรีเมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เจ้าภาพจัดงานในปีหน้า และปิดท้ายด้วยพิธี Tie The Ribbon ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการปิดโครงการ One Young World ของทุกปี โดยผู้ร่วมงานจะได้รับริบบิ้นสีขาวเพื่อเขียนแสดงวิสัยทัศน์ และแนวทางแก้ไขสั้นๆ ลงไป จากนั้นนำมาผูกต่อให้กลายเป็นเส้นเดียวกัน แสดงถึงความตั้งใจและการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในการสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน ความสำเร็จของ One Young World 2015 ที่กรุงเทพฯ ที่เพิ่งจบไป นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของพลังสร้างสรรค์เชิงบวก เพื่อจุดประกายการขับเคลื่อนความคิดของผู้นำรุ่นใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้สนับสนุนด้านกลยุทธ์ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้สนับสนุนด้านการสื่อสาร มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง
แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ