ไขโจทย์ความเข้าใจ 3 ช่วงวัยของการศึกษาขั้นพื้นฐาน สู่พัฒนาการศึกษาไทยแบบติดปีก

ข่าวทั่วไป Monday January 11, 2016 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ นักการศึกษา ชี้ การดูแลการศึกษาแก่ผู้เรียนอย่างเหมาะสมใน 3 ช่วงวัย จะส่งผลให้มีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางด้านสติปัญญา และความฉลาดทางด้านอารมณ์ สูงขึ้นกว่าปกติ จนนำไปสู่การมีโอกาสในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต พร้อมสนับสนุนแนวคิดรัฐบาลด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ให้ความสำคัญในการสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งมีบทบาทต่อการวางรากฐานในการพัฒนาคนตั้งแต่วัยเรียน จนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษ "คุณพุ่ม" คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขอสนับสนุนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ของรัฐบาล ด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับ 3 ช่วงวัย ดังนี้ 1. วัยแรกเกิดถึงวัยอนุบาล บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองมีความสำคัญมาก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมเด็กเริ่มตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงการศึกษาภาคบังคับ ในวัยอนุบาล พ่อแม่ผู้ปกครองและครูต้องมีบทบาทร่วมกันในการส่งเสริมและสร้างประสบการณ์ เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีทั้ง 4 ด้าน และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง เช่น ฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย สอนให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย โดยผู้ปกครองควรให้โอกาสเด็กได้ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อให้เด็กมีความพร้อมมากที่สุด เช่น ทานข้าว อาบน้ำ แต่งตัว เข้าห้องน้ำ ช่วยงานบ้านต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะฝึกความคิด การตัดสินใจ การลงมือทำแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็กเมื่อเขาทำเองได้ 2. ระดับประถมศึกษา เป็นช่วงวัยแห่งความขยันหมั่นเพียร พร้อมจะเรียนรู้มุ่งมั่น ดังนั้น ครูจึงมีหน้าที่ในการสนับสนุน ไม่ควรตัดสินผู้เรียนเมื่อทำผิดพลาดว่าล้มเหลว หรือถูกตำหนิจากพ่อแม่ ซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้น กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง สอนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน 3. ระดับมัธยมศึกษา เป็นช่วงวัยที่เริ่มเผชิญกับความซับซ้อนของสังคม ดังนั้น เด็กในช่วงวัยนี้ต้องมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะได้ ซึ่งครูต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและ ความสามารถในการค้นหาความรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้กำหนดมาตรฐานด้านการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพที่สำคัญของผู้เรียน โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขใน 5 ประการ ดังนี้ 1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้ง ตลอดจนเน้นให้ผู้เรียนเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 2. ความสามารถในการคิด คือ การที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาหรือได้รับการฝึกฝนทักษะการคิดอย่างมีระบบ ส่งผลให้สามารถคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เ ผู้เรียนสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม การเข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม 4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุข พร้อมกับรู้จักปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม 5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนมีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ในการพัฒนาตนเองและสังคมในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. เห็นความสำคัญของพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กในทุกช่วงวัย ที่ผ่านมาได้กำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยเฉพาะ เพื่อการพัฒนาทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และคุณค่าทางสังคม อาทิ ผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ผู้เรียนมีความใฝ่รู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ฯลฯ ทั้งนี้การสร้างเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ยากเกินความพยายาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการบูรณาการเชื่อมโยงกับนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ผ่านกระบวนการเรียนที่มีคุณภาพซึ่งจะช่วยให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่สมดุลทั้งความดี ความงาม ความมีสำนึกต่อส่วนรวม และความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคสารสนเทศของสังคมโลกได้อย่างเท่าทัน ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมระดับแนวหน้าได้ในอนาคต สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ