ปภ. แนะข้อควรปฏิบัติป้องกัน – ลดเสี่ยงไฟป่า

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2016 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยไม่เผาขยะมูลฝอย ใช้วิธีไถกลบเศษวัชพืชและวัสดุการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรแทนการเผา ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้าแห้ง รวมถึงสร้างแนวกันไฟป้องกันเพลิงไหม้ลุกลามเป็นไฟป่า กรณีก่อกองไฟควรดับไฟให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันเพลิงลุกลามเป็นไฟป่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแห้ง ลมแรง ต้นไม้ผลัดใบ และหญ้าแห้งเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยประสบสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เนื่องจากอิทธิพลปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้มีแนวโน้มเกิดไฟป่าสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณจุดความร้อน (Hotspots) จำนวนมากในพื้นที่ประเทศไทย จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสูงขึ้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ดังนี้ กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงบริเวณแนวชายป่าและในป่า โดยการเก็บกวาดพื้นที่ให้โล่งเตียน ไม่ให้มีใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้งหรือหญ้าแห้งกองสุม เพราะหากเกิดเพลิงไหม้จะทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟบริเวณแนวชายป่าและในป่า โดยไม่เผาขยะมูลฝอย ใช้วิธีไถกลบเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้าแห้ง ไม่เก็บของป่าหรือล่าสัตว์ด้วยการจุดไฟ เพราะอาจลุกลามเป็นไฟป่า เพิ่มความระมัดระวังในการจุดไฟบริเวณแนวชายป่าและในป่า ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมถังน้ำไว้ใกล้ๆ กรณีไฟลุกลามจะได้สามารถควบคุมเพลิงได้อย่างทันท่วงที รวมถึงราดน้ำดับไฟให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการลุกลามเป็นไฟป่า สร้างแนวกันไฟป้องกันการลุกลามไหม้พื้นที่ใกล้เคียง โดยจัดทำคันดินกั้นหรือขุดเป็นร่องดินล้อมรอบบริเวณบ้านและพื้นที่การเกษตร หากเกิดเพลิงไหม้จะช่วยสกัดมิให้ไฟลุกลามไหม้บ้านเรือนและขยายวงกว้างเป็นไฟป่า รวมถึงตรวจสอบแนวกันไฟไม่ให้มีต้นไม้พาดขวาง เพราะหากเกิดไฟป่าจะทำให้เพลิงลุกลามไหม้ข้ามแนวกันไฟ ส่งผลให้ไฟป่าขยายวงกว้างมากขึ้น 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ