ธนาคารธนชาต (TBANK) ก้าวหน้าทุกมิติ กำไรโตสวนกระแส เงินกองทุนแข็งแกร่ง NPL ลดลง สภาพคล่องทางการเงินสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 19, 2016 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ธนาคารธนชาต ธนาคารธนชาต (TBANK) ประกาศผลการดำเนินงานปี 2558 นับเป็นปีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เนื่องจากมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในทุกมิติตลอดปี ทั้งด้านการเติบโตของกำไรสุทธิซึ่งเติบโตต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อย ปี 2558 มีจำนวน 10,743ล้านบาท ด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของ NPL มาอยู่ต่ำกว่า 3% ส่วน Coverage Ratio ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรม นอกจากนี้เงินกองทุนของธนาคารมีความแข็งแกร่งมากขึ้นอยู่ในอันดับต้นๆ ของธุรกิจธนาคาร พร้อมทั้งสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถดำรงสภาพคล่องตามเกณฑ์ LCR ซึ่งผ่านเกณฑ์ขั้นสูงสุดตามที่ธปท. กำหนดไว้ ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าของธนาคารได้เป็นอย่างดี นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK กล่าวว่า "แม้ว่าในปี 2558 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว อีกทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของสินเชื่อ ธนาคารธนชาตจึงได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อรองรับความผันผวนดังกล่าว ทำให้สามารถสร้างผลการดำเนินงานในทุกด้านได้อย่างดีเยี่ยม โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 10,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 821ล้านบาท หรือ 8.27% จากสิ้นปีก่อน จากการลดลงของค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจากการดำเนินงานปกติ ขณะที่คุณภาพของสินทรัพย์ปรับดีขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่ปลายปี 2557 ด้วยการบริหารจัดการ NPL อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ NPL ลดลงจากสิ้นปีที่ผ่านมา 34% ขณะที่ NPL Ratio ลดลงอย่างมากสวนทางกับอุตสาหกรรมจาก ณ สิ้นปี 2557 ที่ 4.09% มาอยู่ที่ 2.84% ณ สิ้นปี 2558 และ Coverage Ratio ปรับเพิ่มขึ้นจาก 85.52% ณ สิ้นปี 2557 มาอยู่ที่ 119.42% ณ สิ้นปี 2558 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนอกจากนี้ เงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นจาก 15.83% ณ สิ้นปี 2557 มาอยู่ที่ 17.92% ณ สิ้นปี 2558 สามารถตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง" นายสมเจตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเดือนมกราคม ปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มกำหนดใช้หลักเกณฑ์การดำรงสภาพคล่องใหม่ที่เรียกว่า Liquidity Coverage Ratio(LCR) โดยธนาคารพาณิชย์ต้องเริ่มดำรงเกณฑ์สินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำที่ระดับ 60% ในปี 2559 จากนั้นจึงทยอยเพิ่มขึ้นปีละ 10% จนครบ 100% ตามเกณฑ์บังคับ ในปี 2563 ซึ่งธนาคารสามารถดำรงเกณฑ์ LCR ได้ผ่านเกณฑ์ขั้นสูงมาอยู่ที่ระดับเกิน 100% ในปีแรก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารที่อยู่ในระดับสูงและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและลูกค้าของธนาคารได้เป็นอย่างดี" นายสมเจตน์กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ