สคร.10 อุบลฯ เผย พยากรณ์โรคปี 59 เฝ้าระวัง 5 โรค คาด "ไข้เลือดออก" ระบาดหนักกว่าปี 56

ข่าวทั่วไป Wednesday January 20, 2016 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี สคร.10 อุบลฯ เผย พยากรณ์โรคปี 59 เฝ้าระวัง 5 โรค คาด "ไข้เลือดออก" ระบาดหนักกว่าปี 56 อหิวาตกโรค ไข้กาฬหลังแอ่น ไข้หวัดใหญ่ และมือเท้าปาก โรคไม่ติดต่อต้องเข้มเด็กจมน้ำ อุบัติเหตุ เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และหมอกควัน วันนี้ (19 ม.ค. 59) นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์โรคประจำปี 2559 กรมควบคุมโรคได้แบ่งโรคที่ต้องมีการเฝ้าระวังออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ โดยโรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังมี 5 โรคคือ 1.โรคไข้เลือดออก คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 160,000 คน มากกว่าการระบาดใหญ่ปี 2556 ที่มีผู้ป่วย 140,000 คน โดยอาจจะมีผู้ป่วยสูงเดือนละประมาณ 5,000-7,000 คน และช่วง มิ.ย.-ส.ค.อาจจะมีผู้ป่วยมากถึง 25,000 คน และเสี่ยงมากใน 266 อำเภอ ใน 56 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันด้วย 2. อหิวาตกโรค ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลและชายแดน จึงต้องเน้นเฝ้าระวังต่อเนื่องทั้งจังหวัดเสี่ยงคือ ระยอง สงขลา และตาก กลุ่มจังหวัดชายแดนตอนกลาง ตอนล่าง และมีชายแดนเป็นทะเล จังหวัดใหญ่ที่เป็นจุดกระจายอาหารทะเล และจังหวัดที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารไม่ปรุงสุก 3. ไข้กาฬหลังแอ่น มีการประเมินพบความเสี่ยงของการเกิดโรคใน 15 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สระแก้ว ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สงขลา กระบี่ ปัตตานี และยะลา 4.ไข้หวัดใหญ่ คาดว่าจะมีผู้ป่วย 72,000 คน ในช่วงฤดูหนาวม.ค.-มี.ค.และช่วงปลายฝนต้นหนาวเดือน ส.ค.-พ.ย. อาจจะมีผู้ป่วยเดือนละ 5,000 - 8,000 คน และ 5.โรคมือ เท้า ปาก คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 70,000 คน โดยเฉพาะฤดูฝน มิ.ย.-ก.ค. อาจมีผู้ป่วยสูงเดือนละ 10,000 ราย ส่วนโรคไม่ติดต่อต้องเฝ้าระวังภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ การเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงมีปัญหาหมอกควัน และการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ภาคอีสาน โรคที่คาดการณ์ว่า ในปี 2559 จะมีการระบาดอย่างหนัก ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู และโรคมือ เท้า ปาก ประชาชนควรมีการดูแลตัวเองอยู่เสมอ สำหรับกลุ่มที่ต้องมีการเฝ้าระวังหากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรง กว่ากลุ่มอื่นได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นประชาชนควรทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน และที่สำคัญหากพบว่า ในบ้านมีผู้ป่วยหรือมีเพื่อนร่วมงาน ป่วยก็ไม่ควรไปคลุกคลีด้วยส่วนผู้ป่วยเองก็ควรมีการสวมหน้ากากเพื่อป้องกัน เชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่นด้วย สำหรับมาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจาก โรคและภัยสุขภาพดังกล่าว สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี ได้ดำเนินการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ตรวจจับ และคัดกรองโรคและภัยสุขภาพให้ได้อย่างรวดเร็ว การตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพด่านควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนาม และการพัฒนาทีมสอบสวนโรค สหสาขาวิชาชีพเคลื่อนที่เร็ว ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจาก ทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422. นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ