รองนายกฯ ธนะศักดิ์ ระดมความเห็น ก.พ.-ผู้เชี่ยวชาญ แก้ปัญหากรมศิลป์ขาดแคลนบุลากร

ข่าวทั่วไป Monday January 25, 2016 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการขาดแคลนอัตรากำลังของกรมศิลปากร เมื่อเร็วๆนี้ ว่า กรมศิลปากรได้รายงานปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลัง ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีอัตรากำลังไม่เพียงพอต่อภารกิจ ซึ่งในปัจจุบัน กรมศิลปากรมีอัตรากำลังในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย สำนักศิลปากรที่ 1-15 สำนักสถาปัตยกรรม สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักหอสมุดแห่งชาติ ทั้งนี้อัตรารวมทั้งสิ้น 2,749 อัตราประกอบด้วย ข้าราชการ 1,444 อัตรา ลูกจ้างประจำ 362 อัตรา พนักงานราชการ 345 อัตรา ลูกจ้างชั่วคราว (เงินนอกงบประมาณ) 598 อัตรา นอกจากนี้มีตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับทรงคุณวุฒิ 4 อัตรา ได้แก่ ด้านวิชาการละครและดนตรี (โขน ละคร) ด้านอักษรศาสตร์ (ภาษาเอกสารและหนังสือ) ด้านโบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) และด้านช่างศิลปกรรม (ช่างศิลปไทย) และระดับเชี่ยวชาญ 16 อัตรา ได้แก่ ด้านกฎหมายมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ด้านโบราณคดี (วิจัยและพัฒนาโบราณคดี) ด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุด้านวิทยาศาสตร์ (วิทยาศาสตร์การอนุรักษ์)ด้านอักษรศาสตร์ (ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี) ด้านอักษรศาสตร์ (ภาษาและวรรณกรรม) ด้านภาษาโบราณ ด้านสถาปัตยกรรม (บูรณะปฏิสังขรณ์หรือสถาปัตยกรรมไทย) ด้านมัณฑนศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านประติมากรรม ด้านช่างศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม , ช่างสิบหมู่ , อนุรักษ์ศิลปกรรม) ด้านวิชาการและละครดนตรี (โขน ละครและดนตรี)และระดับทักษะพิเศษ 3 อัตรา ได้แก่ ด้านโขนละคร ด้านดุริยางค์ไทย และด้านดุริยางค์สากล พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องในการแก้ปัญหาของกรมศิลปากร โดยมีข้อเสนอแนะให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการบรรจุข้าราชการในตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือจ้างพนักงานราชการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ขาดแคลน ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายเวลาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเฉพาะด้านบางตำแหน่ง และจ้างบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญมาทดแทน และนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนหน้า ทั้งนี้ กรมศิลปากรมีความต้องการตำแหน่งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอัตรากำลังไม่เหมาะสมกับภารกิจ ซึ่งนับว่าบุคลาการของกรมศิลปากรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรม การศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเป็นศูนย์ข้อมูล เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และกำกับดูแลการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยให้กรมศิลปากร ดำเนินการขอเพิ่มอัตราตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.พ. ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ