สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันพุธที่ 20 มกราคม 2559

ข่าวทั่วไป Monday January 25, 2016 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--Triple J Communication 1. ความก้าวหน้าโครงการบรรเทาผลกระทบจากปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน โครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ให้ได้รับสิทธิ์ซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิมที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2556 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1) ระยะที่ 1 (1 ก.ย. 2556 – 1 ก.พ. 2558 ) กองทุนน้ำมันฯ รับภาระช่วยเหลือ 348 ล้านบาท 2) ระยะที่ 2 (2 ก.พ. 2558 – ปัจจุบัน) ปตท. รับภาระช่วยเหลือ 586 ล้านบาท ผลการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2556 จนถึง 31 ธ.ค. 2558 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ช่วยเหลือ ร้านค้าก๊าซ LPG ที่เข้าร่วมโครงการฯ และการใช้สิทธิ์ซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) จำนวนผู้มีสิทธิ์ 1.1) ครัวเรือนรายได้น้อย 7,569,867 สิทธิ์ 1.2) ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร 362,828 สิทธิ์ รวม 7,932,695 สิทธิ์ 2) จำนวนร้านค้าก๊าซ LPG : ทั่วประเทศ 47,417 ร้าน เข้าร่วมโครงการฯ 7,616 ร้าน 3) ยอดการใช้สิทธิ์ การใช้สิทธิ์ (ครั้ง) ปริมาณก๊าซLPG(ล้านกิโลกรัม) เงินช่วยเหลือ (ล้านบาท) 3.1) ครัวเรือนรายได้น้อย 754,788 8 39 3.2) ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร 9,224,632 186 894 รวม 9,979,420 194 933 การดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป - ตั้งแต่ ม.ค. – มิ.ย. 2559 ปตท. รับภาระช่วยเหลือภายในวงเงิน 500 ล้านบาท หรือจนกว่าจะมีกลไกถาวรใหม่มารองรับ - มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นหน่วยงานหลักในกำกับดูแลโครงการฯ และเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน แทน สนพ. 2. แนวทางการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ปัจุบันการกำหนดราคาต้นทุนการจัดหาก๊าซ LPG ของโรงกลั่นที่ CP-20 และการนำเข้าที่ CP+85เหรียญสหรัฐ/ตัน ไม่อิงกลไกตลาดแต่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐ จึงทำให้ราคาตั้งต้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและจัดหาที่แท้จริง ทำให้การไม่มีการแข่งขันในระบบค้าก๊าซ LPG อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้ง มี ปตท. รายเดียวที่นำเข้าก๊าซ LPG และเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศโดยชดเชยค่าขนส่งให้เฉพาะคลังก๊าซของ ปตท. ทำให้ยังไม่เกิดกลไกที่เหมาะสมและเป็นธรรม · แนวทางการแก้ไขปัญหา ควรดำเนินการเปิดให้ธุรกิจก๊าซ LPG มีความเป็น "เสรี" มากขึ้น โดยให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LPG มากกว่า 1 ราย โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้ ระยะที่ 1 ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่น (ที่ไม่ใช่ ปตท.) นำเข้า เช่น มาตรการเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า และให้ ปตท. เปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน LPG (ท่าเรือนำเข้า คลัง) แก่ผู้นำเข้ารายอื่น โดย ปตท. ยังสามารถกำหนดให้มีค่าบริการและกฎระเบียบการใช้คลังที่เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งเสนอให้มีการยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังภูมิภาค ระยะที่ 2 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า แต่ยังกำกับราคานำเข้าที่ไม่เกิน CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยแบ่งปริมาณนำเข้าของ ปตท. บางส่วน ให้ผู้ประกอบการรายอื่นด้วยระบบโควต้า และให้สามารถนำเข้าได้มากกว่าโควต้าที่ได้รับตามที่กรมธุรกิจพลังงานจะเห็นสมควรและกำหนด แต่หากไม่มีผู้ค้ามาตรา 7 ก๊าซรายใดยื่นความประสงค์ที่จะนำเข้าก๊าซ LPG แสดงว่าราคานำเข้าที่ CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นราคาที่ต่ำที่สุดสำหรับการนำเข้าก็จะต้องเป็นบทบาทของ ปตท. ที่จะต้องนำเข้าในราคาดังกล่าว ระยะที่ 3 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคานำเข้าที่ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยให้มีการทบทวนสูตรราคานำเข้าจาก CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการขนส่ง (ค่าเรือ) ซึ่งปรับตามตลาดโลก เพื่อจูงใจให้มีผู้นำเข้ารายอื่นสามารถนำเข้าได้ ระยะที่ 4 เปิดการประมูลการนำเข้าก๊าซ LPG โดยเมื่อปริมาณโควต้าของผู้ประกอบการทุกรายรวมกันมากกว่าปริมาณที่ต้องนำเข้าให้ใช้วิธีการประมูล (bidding) โดยให้ กรมธุรกิจพลังงานเปิดประมูลการนำเข้า โดยให้สิทธินำเข้าแก่ราคาต่ำสุดที่น้อยกว่า CP+85 หรือ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน (ตามแต่กรณี) จนถึงปริมาณรวมที่ประเทศต้องนำเข้า เป็นต้น การดำเนินการตาม Roadmap จะเปิดให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LPG มากกว่า 1 รายก่อนและรอติดตามผลการดำเนินงานภายใน 1 ปีก่อนเปิดเสรีเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้ค้าก๊าซทั้งจากกลุ่มโรงกลั่นและนำเข้าจะมีเวลาในการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบแข่งขันเสรี รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้บริโภคปรับตัวด้วย 3. แนวทางการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) การปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร ตั้งแต่ 26 ส.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ทยอยปรับราคาฯ มาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดปรับตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 ซึ่งเห็นชอบให้ราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นมาอยู่ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนรถโดยสารสาธารณะคงราคาไว้ที่ 10.00 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาขายปลีกฯ ดังกล่าว ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การปรับต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตร จากการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ถ้าราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร ต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตร จากสถานีหลัก จะอยู่ที่ 0.0167 บาท/กิโลเมตร/กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ณ สถานีบริการที่อยู่ไกลจากสถานีหลัก มีราคาเพิ่มขึ้นตามระยะทาง แต่เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลลดลงมาอยู่ที่ 24.56 บาท/ลิตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ NGV ในพื้นที่ห่างไกลสถานีหลัก สนพ. จึงได้ปรับลดต้นทุนค่าขนส่งฯ ลงมาอยู่ที่ 0.0150 บาท/กิโลกรัม/กิโลเมตร ตามระยะทางจริง การดำเนินการต่อไป - ให้ลอยตัวราคาขายปลีกก๊าซ NGV ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร แบบมีเงื่อนไข คือ ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ (ตั้งแต่ 21 ม.ค. – 15 ก.ค. 2559) ขอความร่วมมือจาก ปตท. กำหนดเพดานราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป อยู่ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม แต่หากในช่วงเวลาดังกล่าว ต้นทุนราคาก๊าซ NGV ต่ำกว่า 13.50 บาท/กิโลกรัม ให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปลงเพื่อให้สะท้อนต้นทุนทันที และตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป ให้ยกเลิกเพดานราคาและให้ราคาก๊าซ NGV ลอยตัวตามต้นทุน โดยให้มีการปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV ทุกวันที่ 16 ของเดือน โดยให้กลไกสะท้อนต้นทุนราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ของเดือนที่ผ่านมาในการคำนวณตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ สำหรับรถโดยสารสาธารณะให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้เท่าเดิม ที่ 10.00 บาท/กิโลกรัม เพื่อให้การปรับราคาก๊าซ NGV สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค พร้อมปรับเพิ่มวงเงินช่วยเหลือสำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ จาก 9,000 บาท/เดือน เป็น 10,000 บาท/เดือน และจาก 35,000 บาท/เดือน เพิ่มเป็น 40,000 บาท/เดือน จนกว่าจะมีกลไกอื่นมาดูแลต่อไป - สำหรับการปรับต้นทุนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตรจากสถานีหลัก ให้ปรับวิธีการคำนวณค่าขนส่ง โดยใช้อัตราค่าขนส่งอยู่ที่ 0.0150 บาท/กิโลกรัม/กิโลเมตร แต่สูงสุดไม่เกิน 4 บาท/กิโลกรัม ให้ทยอยการบังคับใช้ เพื่อให้มีผลกระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุดไป 4. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีการอ้างอิงราคาน้ำมันนั้น ไม่ได้ลดลงตามราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซิน และน้ำมันแก๊สโซฮอลอยู่ในระดับที่เหมาะสม และให้สามารถปรับภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น กบง. จึงเห็นควรดำเนินการ ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของ น้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล (E10) และ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.60 บาท/ลิตร เพื่อให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 17 มกราคม 2559 มีฐานะสุทธิ 42,225 ล้านบาท ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1,152 ล้านบาท/เดือน
แท็ก ก๊าซ lpg  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ