สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 18-22 ม.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 25-29 ม.ค. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปยังคงปรับลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบ เบรนท์ (ICE Brent) ปรับตัวลดลง 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 29.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 23.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ลดลง 0.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 29.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 3.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 32.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 59 และมีผลบังคับใช้ทันทีทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบตามอิสระ โดย รมต.ช่วยว่าการกระทรวงน้ำมันอิหร่านออกคำสั่งให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่านเพิ่มปริมาณการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ทำให้อุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาดมาอยู่ที่ 2-2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 486.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอัตราการกลั่นในสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.6 % มาอยู่ที่ 90.6 % - International Energy Agency (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2559 ลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 95.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลก ในปี 2558 ลง 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 94.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนโตอยู่ที่ 1.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน - International Monetary Fund (IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ลง 0.2% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าในเดือน ต.ค. 58 มาอยู่ที่ระดับ 3.4% ต่อปี เนื่องจากปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น เศรษฐกิจในอเมริกาใต้และราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประเทศผู้ผลิต ทั้งนี้ IMF ปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2560 มาเติบโตอยู่ที่ 3.6% ต่อปี ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 3.8% ต่อปี ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 515 แท่น ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี - Reuters รายงานเกิดพายุหิมะตกหนักบริเวณ East Coast ของสหรัฐฯ ขณะที่หน่วยงานต่างๆในมลรัฐนิวยอร์กและเมืองฟิลาเดลเฟียเริ่มกลับมาดำเนินการได้แล้ว ทว่าในกรุงวอชิงตันยังคงปิดทำการแม้แต่สภาคองเกรสก็เลื่อนการประชุมในสัปดาห์นี้ออกไปก่อน เนื่องจากหิมะปกคลุมด้วยความสูงจากพื้นดิน 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร - Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ม.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 16,809 สัญญา มาอยู่ที่ 52,337 สัญญา เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทะยานเหนือระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บในสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าจะฉุดดึงความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นให้สูงขึ้น ประกอบกับแรงหนุนจากตลาดหุ้นทั่วโลกหลังมีสัญญาณจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นสหรัฐฯ ออกมาสดใส ทำให้บรรยากาศโดยรวมในตลาดทุนค่อนข้างคึกคัก โดยสรุปแล้ว ICE Brent และ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นถึง 15.4 % และ 13.5 % ในช่วง 2 วันทำการล่าสุด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดไม่เชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันดิบจะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพจากปัจจัยแวดล้อมเชิงลบที่ยังไม่มีทีท่าคลี่คลาย ทั้งภาวะอุปทานล้นตลาดและเศรษฐกิจจีนที่ยังมีปัญหาเรื้อรัง นอกจากนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า วิกฤติการณ์ราคาตกต่ำในรอบนี้ ยังไม่พบจุดต่ำสุด และไม่น่าจะทะลุผ่านระดับ 35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญที่หากสามารถผ่านไปได้จะไม่น่าตกกลับมาอีก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะร่วงลงมาทดสอบแนวรับที่ระดับ 26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นการ Rebound จาก Correction ระยะสั้นหลังตลาดเกิด Oversold เท่านั้น ด้าน Goldman Sachs เสริมว่าราคาน้ำมันจะผันผวนต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 แต่น่าจะอยู่ในกรอบที่ไม่กว้างมาก ในช่วง 20-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นปกติวิสัยในขณะที่ตลาดหาจุดสมดุลใหม่ ทั้งยังตอกย้ำว่าอุปทานจะลดลงอย่างชัดเจนได้ ราคาน้ำมัน WTI จำเป็นต้องดิ่งสู่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอจะดำเนินการ ด้านความเคลื่อนไหวอื่นที่น่าสนใจ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีนโยบายเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment-FDI) ใน 10 ปีข้างหน้าขึ้นสองเท่าตัว โดยเน้นภาคธุรกิจใหม่ เช่น การขุดเหมือง, สุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ การลงทุนส่วนใหญ่มุ่งไปที่ภาคพลังงานเป็นหลัก ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.85-34.86 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, WTI ที่ 30.16-35.17 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ 24.25-29.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลง จากหน่วยงานศุลกากรของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.7 % อยู่ที่ 6.7 ล้านบาร์เรล และปริมาณส่งออกเฉลี่ยในปี 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.1 % อยู่ที่ 76.5 ล้านบาร์เรล และ โรงกลั่นน้ำมัน Maoming Petrochemical (กำลังการกลั่น 470,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec ในจีน ผลิตน้ำมันเบนซินในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.9 % อยู่ที่ 35.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และได้รับโควต้าส่งออกในไตรมาส 1/59 ปริมาณ 850,000 บาร์เรล อีกทั้ง Energy Aspects เผยกำลังการกลั่นจีนหยุดดำเนินการในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 280,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือน ธ.ค. 58 ที่หยุดดำเนินการ 600,000 บาร์เรลต่อวัน) และมีแนวโน้มที่จะลดลงมาอยู่ที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 59 เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยโรงกลั่นขนาดเล็กและโรงกลั่นอิสระมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้น 1.6 – 1.8% อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) รายงานปริมาณการบริโภคน้ำมันเบนซินของอินเดีย ในเดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.7% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.8% มาอยู่ที่ 15.47 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำมันเบนซิน รวมทั้งปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 178.27 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7% ประกอบกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยความต้องการใช้น้ำมันน้ำมันเบนซิน เดือน ธ.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 110,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่งจีนได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันมาตรฐาน China 5 (เทียบเท่า Euro 5) ในเมืองหลักของจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 59 ในส่วนของปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน PJK International B.V.รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 14 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 13.2 % อยู่ที่ 8.4 ล้านบาร์เรล PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 470,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 11.49 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 20 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 13.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48.25-53.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าวหน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานยอดส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 264.0 % อยู่ที่ 7.4 ล้านบาร์เรล และในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 74.6 % อยู่ที่ 54.0 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 20 ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.1ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัท Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%S จำนวน 2 เที่ยวเรือ เที่ยวเรือละ 260,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบวันที่ 5-10 และ 15-20 ก.พ. 59 โดยเป็นเที่ยวเรือจาก สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย, จีน, ไต้หวัน, หรือเกาหลีใต้ อีกทั้ง National Weather Service รายงานอุณหภูมิในสหรัฐฯ แถบ East Coast และ Mid West สุดสัปดาห์นี้จะลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและเกิดพายุหิมะ บริเวณ West Virginia, Boston และWashington ทั้งนี้ภาวะอากาศหนาวเย็นทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพายุหิมะตกหนัก ทำให้โรงกลั่นหยุดทำงาน อาทิ โรงกลั่น Marathon Petroleum (กำลังการกลั่น 242,000 บาร์เรลต่อวัน ) ที่เมือง Catlettsburg มลรัฐ Kentucky ต้องหยุดดำเนินการ Secondary Unit หลายหน่วยตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 59 และ PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 14 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล หรือ 1.7 % อยู่ที่ 25.9 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.75-37.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ