ฟิทช์: การปล่อยลอยตัวราคา NGV ของประเทศไทยส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 27, 2016 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์กล่าวว่าแผนการยกเลิกการกำหนดเพดานราคาขายปลีกของก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ส่งผลดีต่อธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย โดยราคาเชื้อเพลิงทุกประเภทในประเทศไทยจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหลังจากการปฏิรูปการกำหนดราคาขายของ NGV ดังกล่าวต่อจากการปฏิรูปการกำหนดราคาขายของก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และการปรับราคาขาย NGV ในไตรมาส 4 ปี 2557 การลดการขาดทุนจากการขาย NGV ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปดังกล่าว จะส่งผลดีต่อกระแสเงินสดของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT, อันดับเครดิตที่ BBB+/AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อย่างไรก็ตาม การทำกำไรของปตท. ได้ลดลงเป็นอย่างมาก จากธุรกิจขุดเจาะน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ มีผลประกอบการที่แย่ลงอันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ประกาศลอยตัวราคาขายปลีก NGV ในปี 2559 โดยราคา NGV จะถูกกำหนดให้สะท้อนถึงต้นทุนราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติ (pool gas price) ในประเทศไทย ทั้งนี้ราคาขายจะมีการพิจารณาเป็นรายเดือน อย่างไรก็ตามราคาขายปลีก NGV จะยังคงถูกกำหนดไว้ไม่เกิน 13.5 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 หลังจากนั้นจะมีการยกเลิกการกำหนดราคาสูงสุด ในขณะที่ราคาขาย NGV ให้แก่รถโดยสารสาธารณะซึ่งมีปริมาณการใช้คิดเป็นประมาณ 25% ของปริมาณการบริโภค NGV ทั้งหมดในประเทศไทย จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาในด้านกฏหมาย เพื่อที่จะให้กองทุนน้ำมันของประเทศมาชดเชยการกำหนดเพดานราคา NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะนี้ PTT ขาดทุนจากธุรกิจ NGV เป็นจำนวนมากในปี 2554-2557 บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ NGV ที่ติดลบจำนวน 2 หมื่นล้านบาทในปี 2557 (เทียบกับ EBITDA รวมทั้งปีของทุกธุรกิจของบริษัทฯ จำนวน 2.51 แสนล้านบาท) และติดลบ 8.3 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 โดยผลขาดทุนที่ลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มาจากการขึ้นราคาขายปลีก NGV ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2557 เราคาดว่าผลขาดทุนจะลดลงเป็นอย่างมากในปี 2559 ในอดีต ความต้องการใช้ NGV ในประเทศไทยได้ถูกบิดเบือนจากการกำหนดราคา เนื่องจากราคาขายปลีกได้ถูกกำหนดไว้ที่ระดับต่ำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดผลขาดทุนต่อผู้ดำเนินธุรกิจอย่าง PTT เป็นอย่างมาก ความต้องการใช้ NGV เติบโตเป็นอย่างมากในปี 2554-2556 แต่การเติบโตลดลงเหลือ 3% ในปี 2557 หลังจากที่ราคา NGV ได้ถูกปรับขึ้น การขึ้นราคาขายปลีกของ NGV และราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ปรับตัวลงได้ลดความต้องการใช้ NGV ในปี 2558 ลง การบริโภค NGV ใน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลง 2% ในขณะที่การบริโภคน้ำมันเบนซินและดีเซลสูงขึ้น 13% และ 3% ตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับ LPG เช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้มีการปฏิรูปราคาในช่วงต้นปี 2558 ซึ่งการบริโภค LPG ลดลง 12% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ