ประธานบอร์ด กปภ.ลงพื้นที่นครศรีธรรมราชแนะขุดสระน้ำแก้ภัยแล้ง ยืนยันพร้อมรับโอนประปาท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Monday February 1, 2016 12:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--การประปาส่วนภูมิภาค ประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายวิชาการการกระจายอำนาจ เรื่องความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2559 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเมืองลิกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เนื่องในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครศรีธรรมราช และติดตามการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ กปภ. สาขาในสังกัด กปภ.เขต 4 นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ กปภ. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและติดตามผลการดำเนินงาน ในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน การเพิ่มผู้ใช้น้ำ การลดน้ำสูญเสีย การรับโอนกิจการจากท้องถิ่น และเดินทางลงพื้นที่เพื่อดูแหล่งน้ำของ กปภ.สาขานครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงาน ก.ก.ถ.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายวิชาการการกระจายอำนาจ เรื่อง "ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ" ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2559 เวลา 08.30 น. ณ โรงแรมเมืองลิกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานการกระจายอำนาจ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ รูปแบบและแนวทางการพัฒนา การกระจายอำนาจในรูปแบบความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการบูรณาการแนวความคิดการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวจากสถาบันการศึกษา เครือข่ายวิชาการกระจายอำนาจ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาชน ซึ่งมีนายดนัย เจียมวิเศษสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัด ให้การต้อนรับ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ตรัง และสุราษฎร์ธานี ผู้แทนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ใสใหญ่) รวมทั้งสิ้น 80 คน นายจิรชัย มูลทองโร่ย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการ กปภ.พร้อมจะรับโอนกิจการประปาท้องถิ่นมาบริหารจัดการ ในขณะนี้ กปภ.กำลังวางท่อเชื่อมต่อระบบประปาไปยัง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ใช้งบประมาณเกือบ 2 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจาก อปท.แนะนำและผลักดันให้เกษตรกรขุดสระน้ำไว้สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภคแทนการพึ่งพาระบบชลประทานเพียงอย่างเดียว เพื่อเกษตรกรจะได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่เดือดร้อนในหน้าแล้งอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ