บล.โกลเบล็ก ชี้ราคาทองเด้งต่อ เก็งเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย SET เจอแรงกดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว - แนะลงทุนหุ้นประกาศงบQ4/58เด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 4, 2016 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ บล.โกลเบล็ก มองราคาทองขึ้นต่อ หลังสหรัฐรายงานตัวเลข GDP ขยายตัวเพียง 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย เหตุเศรษฐกิจรวมยังอ่อนแอ ให้กรอบสะสม 1,155-1,160 เหรียญต่อทรอยออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหว SET มองยังเจอแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเศรษฐกิจจีนหดตัวลง ให้แนวรับที่ 1,280-1,315 จุด แนะลงทุนหุ้นประกาศไตรมาส 4/58 เด่น นายสุทธิพงษ์ ศรีพรประเสริฐ นักวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่า ราคาทองคำยังแกว่งตัวในแนวโน้มขึ้นต่อเนื่อง จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเบื้องต้นสำหรับไตรมาส 4/2558 ที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 0.7% หรือลดลงจาก 2.0% ในไตรมาส 3/2558 และต่ำกว่าระดับ 3.9% ในไตรมาส 2/2558 ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ขณะที่นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยว่าความปั่นป่วนของตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ทำให้เกิดกระแสการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างรวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าลงประกอบกับรายงานภาคการผลิตของสหรัฐและจีนหดตัวลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการของจีนชะลอตัวลงในเดือนม.ค. ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐเดือนม.ค.อยู่ที่ระดับ 48.2 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ดังนั้น ประเมินแนวโน้มราคาทองคำโลกด้านเทคนิค ราคาทองพักตัวช่วงสั้นๆหลังขึ้นแรงจากเส้นแนวรับขาขึ้นและแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 10 วัน และยังแกว่งตัวอยู่ในแนวโน้มขึ้นรูปแบบ ROUNDING BOTTOM ขณะที่ค่าสัญญาณทางเทคนิคไม่มีภาวะซื้อมากเกินไป ทำให้แนวโน้มราคาพักตัวในกรอบแคบก่อนปรับขึ้นต่อตามแนวโน้มขึ้นเดิมโดยให้แนวรับ 1,100-1,095 เหรียญต่อทรอยออนซ์ และแนวต้าน 1,155-1,160 เหรียญต่อทรอยออนซ์ ด้านแนวโน้มตลาดหุ้น น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มภาวะตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการที่ ธนาคารกลางจีน (PBOC) อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคมมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้วกว่า 2 ล้านล้านหยวน (10.84 ล้านล้านบาท) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปยอดค้างสินเชื่อในเดือนธันวาคมว่า ขยายตัว 5.6% จากการเพิ่มขึ้นของครัวเรือน ตอบรับมาตรการกระตุ้นรัฐบาล สินเชื่อรถมีการฟื้นตัวขึ้นหลังจากหดตัวลง 19 เดือนติดต่อกัน ส่วนภาคธุรกิจมีปริมาณสินเชื่อเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและขนส่ง นอกจากนี้ยังได้ปัจจัยหนุนจากจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 เป็นงบประมาณขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2559 ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ในปี 2560 เติบโต 4% เงินเฟ้อที่ระดับ 2% อีกด้วย ซึ่งบ่งชี้ว่าจะเห็นการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างไรตามก็ยังมีปัจจัยที่ยังคงกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว และไม่มีความหวังว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตเกิดขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตนำมันของรัสเซียเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคม และสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกปี 2559 โดยหน่วยงานอื่นต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ระดับ 5% โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยคาดว่าจะเติบโต 2% ส่วนนักเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัยมองว่าการส่งออกจะหดตัว 0.2% รวมทั้ง Fund Flow ต่างชาติมีการขายสุทธิตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีราว 9.4 พันล้านบาทอีกด้วย ด้านนายชัยยศ จิวางกูรผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก จำกัด ประเมินกลยุทธ์การลงทุนใน SET ว่า ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯและจีนหดตัวลง รวมถึงราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงแรงเป็นแรงกดดันหลักต่อภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ดังนั้นคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีแรงซื้อดักงบและปันผลปี 2558 ที่จะทยอยประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ ช่วยพยุงไม่ให้ดัชนีทรุดตัวแรงมากนัก โดยคาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,280-1,315 จุด แนะนำกลยุทธ์การลงทุน Selective Buy ในกลุ่มที่ปัจจัยบวกสนับสนุนได้แก่ กลุ่มที่คาดว่างบปี 2558 และ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2558 เติบโตขึ้น แนะนำ EPG, QTC, FSMART, KCE, TVT, GL, BEAUTY, EA, SYNEX, SMPC, SPALI, ORI, UBIS ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว และได้ประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันปรับตัวลง แนะนำ AOT, BA, AAV และ กลุ่มจ่ายปันผลสูง แนะนำ INTUCH, ADVANC และ KTB

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ