รัฐมนตรีเกษตรฯ ติดตามการขับเคลื่อนประชารัฐกลุ่มมิตรผล ยึดโมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เล็งขยายผลในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพิ่ม

ข่าวทั่วไป Monday February 8, 2016 12:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินงานของอุทยานมิตรผล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิตน้ำตาล ไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอล รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการไร่อ้อยภายใต้โมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) สะท้อนเจตนารมณ์ในการสนับสนุนโครงการ "1 ตำบล 1 SME เกษตร" ตามแนวนโยบายประชารัฐ ว่า จากที่ประชุมคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดให้มีแผนงานระยะเร่งด่วนใน 3 ประเด็นประกอบด้วย ภาคเอกชนสนับสนุนเรื่องการตลาดและการบริหารจัดการในระบบส่งเสริมการเกษตร แบบแปลงใหญ่ ภาคเอกชนให้ความรู้ในการบริหารงานและการเงินแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสหกรณ์ และการนำมาตรฐานการผลิตขั้นต้นมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพพืชเสริมรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยในปี 2559 มีพื้นที่การดำเนินงานจำนวน 268 แปลง แบ่งเป็น แปลงต้นแบบ คัดเลือกแปลงต้นแบบจังหวัดละ 1 แปลง 76 จังหวัด รวม 76 แปลง จำนวน 17 สินค้า ประกอบด้วย ด้านพืช 14 สินค้า ด้านปศุสัตว์ 2 สินค้า และด้านประมง 1 สินค้า แปลงทั่วไป จำนวน 192 แปลง และแปลงที่จะดำเนินการใหม่ในปี 2559 ซึ่งจะเพิ่มเติมจากเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการเสนอจำนวนแปลงพื้นที่และเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการ ซึ่งกลุ่มสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการขณะนี้ก็มีหลายตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าว มัน หรืออ้อย เป็นต้น และจากการเยี่ยมชมโมเดลการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนด้วยการจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) ของกลุ่มมิตรผล มีประสิทธิภาพมากและครอบคลุมสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็ก – ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อย 1-50 ไร่ ใช้โมเดลการปลูกพืชเชิงผสมเพิ่มเติมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งปลูกอยู่ และปลูกกิน เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว และการเลี้ยงปลา เลี้ยงสุกร หรือไก่ไข่ เพิ่มเติมในพื้นที่ไร่ของตนเอง นอกจากนั้น ยังเกิดการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยรายเล็กด้วยกัน เพื่อรับบริการการทำงานในไร่อ้อยจากชาวไร่อ้อยขนาดกลาง ทั้งการปลูก บำรุง และเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการจ้างผู้รับเหมาและได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ชาวไร่อ้อยรายกลาง – ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อย 50-250 ไร่ ใช้โมเดลการพัฒนาสู่การเป็น SME ผู้ให้บริการชาวไร่รายเล็ก ด้วยแนวทางการส่งเสริมให้มีใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และพัฒนาเพิ่มมูลค่าของเครื่องจักรกลเกษตรด้วยธุรกิจการเป็นผู้รับเหมา ทำงานในไร่อ้อยให้กับชาวไร่อ้อยขนาดเล็ก ทั้งการปลูก บำรุง และเก็บเกี่ยว เพื่อพัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmer) ส่วนชาวไร่อ้อยรายใหญ่ – ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 250 ไร่ขึ้นไป ใช้โมเดลการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้จากประเทศออสเตรเลียเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบแปลงใหญ่ อาทิ การรวมการผลิต การทำฟาร์มแบบแม่นยำ และการเทียบเคียงสิ่งที่ดีที่สุด การดำเนินงานโครงการการจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) ของกลุ่มมิตรผล ก่อให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืนในชุมชน เห็นได้จากการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย ทั้งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และยังเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรของไทยอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังมีระบบการส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การสนับสนุนเงินส่งเสริมในรูปแบบสินเชื่อระยะสั้นเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต พันธุ์อ้อย ดิน ปุ๋ย สารควบคุมวัชพืช สินเชื่อระยะกลางเพื่อส่งเสริมระบบชลประทานขนาดเล็กและอุปกรณ์ชลประทาน และสินเชื่อระยะกลาง-ยาวเพื่อส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนการให้ความรู้และเพิ่มประสบการณ์แก่เกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนและผลักดันไปยังสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่อื่นๆโดยเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ