บีโอไอชูนโยบายคลัสเตอร์สร้างมูลค่าเพิ่มอิเล็กทรอนิกส์ มั่นใจกลุ่มนวัตกรรมใหม่เดินหน้าลงทุนในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 9, 2016 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอมั่นใจนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์จะดึงดูดให้บริษัทชั้นนำในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เน้นดึงดูดผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ พร้อมเชื่อมั่น บริษัทชั้นนำของโลกมีแผนลงทุนในไทย และเป็นโครงการที่สร้างนวัตกรรมใหม่ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปี 2559 ว่า บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายมีแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการขยายการลงทุนของบริษัทที่มีฐานการผลิต ในไทยแล้ว และโครงการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ โดยเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่และนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 319 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 116,885 ล้านบาท โดยเป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ 173 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,367 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรคมนาคม ( Telecom ) 8 โครงการ ลงทุน 17,017 ล้านบาท และกิจการ Cloud Service 2 โครงการ ลงทุน 520 ล้านบาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟน โดยบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มกิจการนี้ ได้แก่ บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ผลิต Lighting Device, Lighting Device Parts ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบจอแอลซีดีสำหรับจอภาพโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 3,960 ล้านบาท บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Flexible Printed Circuit Board Assembly (FPCA) หรือแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอ่อน เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แผ่นวงจรสำหรับควบคุมการสั่น (Vibration) การแสดงผลหน้าจอหรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก สำหรับ แทบเล็ต สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอช เป็นต้น เงินลงทุน 2,972 ล้านบาท รวมถึงบริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตมายังต่างประเทศครั้งแรกของโซนี่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตเครื่องปรับอากาศของบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอนซูมเมอร์โพรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 10,700 ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงานฯยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีบริษัทของคนไทยที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ซิลิคอน คราฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก เงินลงทุน 20 ล้านบาท แต่เป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมเอง คือการออกแบบชิพค้นหาตำแหน่งที่ฝังในตัวสัตว์เพื่อนับจำนวนและตรวจติดตามการเจริญเติบโตซึ่งลูกค้าอยู่ในประเทศยุโรป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ