กปภ. จับตา 8 สาขา จังหวัดขอนแก่น ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Tuesday February 9, 2016 18:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--การประปาส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ย้ำ กปภ. 8 สาขา ในจังหวัดขอนแก่น เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ยืนยันพร้อมรับมือภัยแล้งปี 59 นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า กปภ. ให้บริการน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นผ่าน กปภ.สาขา 8 แห่ง ประกอบด้วย กปภ.สาขาขอนแก่น ชุมแพ หนองเรือ กระนวน ชนบท บ้านไผ่ เมืองพล และน้ำพอง ซึ่งจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ถือว่า กปภ. ทั้ง 8 สาขา สามารถบริหารจัดการได้ตามมาตรการที่วางแผนไว้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ตามการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น โดย กปภ.สาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หน่วยบริการภูเวียง กปภ.สาขาหนองเรือ ซึ่งประสบปัญหาน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโสกขุมปูนแห้งขอดจนทำให้ต้องบริหารจัดการการผลิตจ่ายน้ำประปาด้วยการจ่ายน้ำเป็นเวลาระหว่าง 17.00 – 21.00 น. ของทุกวัน เพื่อยืดระยะเวลาการจ่ายน้ำให้ได้ยาวนานที่สุด ซึ่ง กปภ. ขอขอบคุณลูกค้าจำนวนกว่า 1,900 รายในพื้นที่ อบต.ภูเวียง และ อบต.สงเปือยที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีถึงแม้จะขาดความสะดวกสบายจากการใช้น้ำในชีวิตประจำวันก็ตาม ทั้งนี้ กปภ. กำลังเร่งรัดโครงการวางท่อส่งน้ำและก่อสร้างสถานีผลิตน้ำสำเร็จรูปขนาดกำลังผลิต 100 ลบ.ม./ชม. งบประมาณ 39.18 ล้านบาท โดยจะส่งน้ำสะอาดจากสถานีผลิตน้ำดอนโมงมายังสถานีผลิตน้ำภูเวียง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน รองลงมาคือ กปภ.สาขาขอนแก่น ซึ่งดูแลลูกค้าประมาณ 90,000 ราย ใช้น้ำจากลำน้ำพองและลำน้ำชี มีความเสี่ยงจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์และแม่น้ำชีเริ่มเข้าสู่ระดับวิกฤต ทำให้ต้องประสานข้อมูลกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ภัยแล้งปี 59 ไปได้ และ กปภ.สาขาเมืองพล ใช้น้ำจากแม่น้ำชีเป็นหลัก จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์น้ำและเร่งสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง กปภ. ได้จัดเตรียมแผนรองรับกรณีที่ไม่สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำชีได้อีก โดยจะติดตั้งสถานีผลิตน้ำสำเร็จรูปขนาดกำลังผลิต 300 ลบ.ม./ชม. บริเวณสถานีผลิตน้ำโนนรามราช เพื่อเพิ่มกำลังผลิตเดิมและประสานกรมชลประทานขอใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำละเลิงหวาย มาผลิตจ่ายน้ำประปาให้กับประชาชนทั่วพื้นที่บริการ ส่วน กปภ.สาขาชุมแพ กระนวน ชนบท เมืองพล และน้ำพอง มีความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่ง กปภ. จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามระดับแหล่งน้ำดิบตลอดเวลาและพร้อมดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เตรียมไว้ทันทีหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น นายเสริม หึกขุนทด ผู้อำนวยการ กปภ.เขต 6 กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่ให้บริการของ กปภ. ในจังหวัดขอนแก่นมั่นใจได้ว่า กปภ. มีความตื่นตัวเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งและประสานงานกับกรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะสามารถผ่านพ้นภัยแล้งปี 59 ไปได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ