มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2016 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ด้วยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศซึ่งสามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะมีเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง แต่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงในตลาดโลก วัตถุดิบอัญมณีที่เคยสามารถหาได้ในประเทศไม่เพียงพอในเชิงพาณิชย์และการผลิตทางอุตสาหกรรม ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีจากต่างประเทศ ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการภาษีและร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้า อัญมณีและเครื่องประดับของโลก โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้ามาเพื่อขายหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน แต่ไม่รวมถึงสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ 2. ให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ร้อยละ 1 สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินจากการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน และได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายอัญมณีดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกโดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 3,900 ล้านบาทต่อปี และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้ร้อยละ 2 ของต้นทุนการผลิตรวม รักษาฐานการผลิตอัญมณีปลายน้ำ (การประกอบตัวเรือน) ไม่ให้ย้ายฐานไปยังประเทศคู่แข่งซึ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า ทั้งนี้ แรงงานในอุตสาหกรรมปลายน้ำมีประมาณ 50,000 คน ทั้งนี้ จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีไม่มากนัก เนื่องจากมีการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3514, 3513, 3506

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ