ตลาดอสังหาริมทรัพย์นครย่างกุ้งปี 58 ชะลอตัว

ข่าวอสังหา Friday February 12, 2016 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--โจนส์ แลง ลาซาลล์ หลังเมียนมาร์เปิดประเทศมากขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางธุรกิจของประเทศ มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่าน อย่างไรก็ดี ในปี 2558 พบว่า การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่างกุ้งเข้ากลับชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์ของประเทศในช่วงการเตรียมการเลือกตั้งเมื่อปลายปี และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของการลงทุนจากต่างประเทศ ตลาดการซื้อขายที่อยู่อาศัยเข้าสู่ภาวะซบเซา ในขณะที่ค่าเช่าอาคารสำนักงานปรับตัวลดลง ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) แอนดรูว์ กัลแบรนด์สัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของเจแอลแอลในประเทศไทย ซึ่งดูแลการให้บริการด้านที่ปรึกษาแก่ลูกค้าในเมียนมาร์ด้วย กล่าวว่า "หลังจากที่ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานเกรดเอในย่างกุ้งเคยพุ่งขึ้นสูงสุดไปแตะที่ระดับใกล้ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,500 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนในช่วงกลางปี 2556 พบว่า ขณะนี้ ค่าเช่าได้ปรับตัวลดลงมาแล้วมากถึง 35-40% อันเป็นผลมาจากการที่มีอาคารสำนักงานสร้างเสร็จใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทผู้เช่าส่วนใหญ่สู้ค่าเช่าไม่ไหว จึงหันไปเช่าอาคารสำนักงานเกรดรองที่ค่าเช่าถูกกว่า รวมไปจนถึงการเช่าวิลล่า โรงแรม หรือแม้แต่ศูนย์การค้า เพื่อใช้เป็นออฟฟิศ เนื่องจากมีค่าเช่าถูกกว่าอาคารสำนักงานเกรดเอเช่นกัน ในขณะที่มีบริษัทผู้เช่าจำนวนหนึ่งที่คืนพื้นที่เช่าสำนักงานหลังปิดกิจการลง" "จากที่เราพูดคุยกับลูกค้าของเราในย่างกุ้ง พบว่า บริษัทผู้เช่าหลายรายยังคงรอดูสถานการณ์ของประเทศเช่นเดียวกับช่วงก่อนการเลือก ดังนั้น มีแนวโน้มว่า กิจกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานในช่วงครึ่งแรกของปีจะยังคงเงียบเหงา แต่อาจฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากรัฐบาลใหม่เริ่มเข้าบริหารประเทศ" นายกัลแบรนด์สันกล่าว ในส่วนของภาคการลงทุน นักลงทุนต่างชาตินับว่ามีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่างกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงจากสิงคโปร์ เกาหลี และญี่ปุ่น และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อาจเป็นที่รู้จักไม่มากเท่าจากประเทศไทย ฮ่องกง จีน และเวียดนาม นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของยางกุ้งยังสามารถดึงดูดนักลงทุนระดับโลกได้ด้วย อาทิ บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน ภายใต้การดูแลของธนาคารโลก ปัจจุบัน IFC มีการลงทุนไปแล้วรวมมูลค่าเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อาทิ แชงกรีล่า โฮเทล แอนด์ เอ็กเซ็กคิวทีฟ เรสซิเดนซ์ รวมถึงการลงทุนทางอ้อม อาทิ การระดมทุนผ่านหนี้มูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ให้กับซิตี้มาร์ท ซึ่งบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของเมียนมาร์ "จากการพูดคุยกับลูกค้าของเรา พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจสูงกับการลงทุนในเมียนมาร์ อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดหลายประการสำหรับธุรกิจบางประเภท โดยเฉพาะภาคการธนาคาร อาจทำให้การลงทุนโดยต่างชาติในเมียนมาร์ชะลอตัวลงในปีนี้" โดยภาพรวมในปีนี้ ราคา-ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในย่างกุ้งโดยรวมมีแนวโน้มทรงตัว และแม้จะยังคงมีความท้าทายหลายประการ สภาพตลาดน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา "จนถึงขณะนี้ สถานการณ์หลังการเลือกตั้งทั่วไปและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ดำเนินไปได้ด้วยดี ทำให้ความกังวลที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายลง ส่วนความคลุมเครือเกี่ยวกับโครงสร้างของรัฐบาลใหม่ที่ทำให้การออกและอนุมัติกฎหมายต่างๆ สะดุด และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน น่าจะหมดไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ ดังนั้น สถานการณ์ในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ชะลอการลงทุนเพิ่มหรือขยายกิจการอันเนื่องมาจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว นอกจากนี้ การที่นักลงทุนนักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใช้ความรอบคอบมากขึ้นในการลงทุน เชื่อว่าจะทำให้การขยายตัวของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ไม่รวดเร็วเท่ากับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ซัพพลายหรืออุปทานที่มีอยู่เดิมค่อยๆ ถูกซึมซับไปโดยดีมานด์หรืออุปสงค์"นายกัลแบรนด์สันสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ