ปุ๋ย วว. เพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พัฒนาเกษตรกรไทยให้ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday February 18, 2016 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ภาคการเกษตรจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลได้นั้น ปัจจัยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตการเกษตรที่สำคัญคือการใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ มีปริมาณและคุณสมบัติเหมาะสมกับพืชที่ปลูก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในระดับต้นๆ ของตลอดห่วงโซ่กิจกรรมการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา "ปุ๋ย" หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการนำไปใช้ในภาคการเกษตรอย่างแพร่หลาย ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยจากนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากมูลสัตว์แก่เกษตรกรทั่วทุกภาคของประเทศ ภายใต้ "โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงปุ๋ย" ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจในคุณสมบัติของปุ๋ยดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งพืชและบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ เจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต จากการให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงภายใต้โครงการนี้ของ วว. ก่อให้เกิดการสร้างโรงปุ๋ย 317 โรง สามารถผลิตปุ๋ยได้ 1,300,000 กระสอบ สร้างรายได้รวม 1,350 ล้านบาท (คิดเป็นมูลค่าในการสร้างรายได้ประมาณ 340 ล้านบาทต่อปี) ในการวิจัยพัฒนาสูตรปุ๋ยของ วว. ในแต่ละประเภทนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ประโยชน์ให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ซึ่งมีความหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา/ข้าว/และพืชอื่นๆ เป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งต้นและบำรุงดิน ให้ผลผลิตสูง ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อความต้องการของพืชและการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียปุ๋ยส่วนเกินที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วว. ดำเนินการวิจัยและพัฒนากระบวนการหมักปุ๋ย โดยใช้วัตถุดิบที่มีมากในแต่ละชุมชน มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อันได้แก่ มูลสัตว์ ของเหลือใช้จากผลิตผลการเกษตร ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรม เช่น กากทะลายปาล์ม กากตะกอนอ้อย เป็นต้น โดยนำวัตถุดิบดังกล่าวมาหมักตามกรรมวิธี วว. จนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง จากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวมาผสมกับแม่ปุ๋ยเคมีตามผลวิเคราะห์ดิน แล้วนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามความต้องการของแต่ละพืชในแต่ละพื้นที่ ปุ๋ยปลาจากวัสดุเหลือใช้ โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลาและเลือด ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้เกิดการย่อยสลายโดยเอนไซม์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้หลังจากการหมักจนได้ที่แล้วจะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม โดยมีธาตุกำมะถัน เหล็ก ทองแดง และ แมงกานีส เป็นธาตุอาหารรอง นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและอะมิโนแอซิด ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการบ่งชัดถึงผลของอะมิโนแอซิดที่มีต่อพืช แต่จากคำบอกเล่าของเกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ยปลา พบว่า ปุ๋ยปลาจะไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้ให้สีสดขึ้นและผลไม้มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยเร่งการแตกยอดและตาดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้อีกด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุน มีต้นทุนที่ต่ำและประหยัดแรงงาน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการประยุกต์ใช้ของเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก โดยลูกหมุน (Mechanical roof's ventilation fan) ที่ใช้ในระบบเป็นชนิดเดียวกันกับลูกหมุนที่ระบายอากาศตามหลังคาบ้าน อาคาร หรือโรงงาน ซึ่งมีความสามารถในการระบายความร้อนได้ดี จึงนำหลักการนี้มาใช้กับปุ๋ยหมักในซองหมักที่ทำจากบล็อกประสาน วว. และพบว่าการหมักปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุนทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วกว่าวิธีการกลับกอง 20-30 วัน ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในนาข้าว มีประโยชน์ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้โดยเฉลี่ย 20-30% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 25-30% เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโน "ไลซีน" ที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน จากคุณสมบัติการตรึงไนโตรเจนของสาหร่าย เพิ่มอินทรียวัตถุและให้ออกซิเจนแก่ข้าวในสภาพน้ำขัง และกระตุ้นการเจริญเติบโตให้พืช/ทนทานต่อโรค สารปรับปรุงดินจากสาหร่ายสกุลนอสตอค มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน รักษาความชุ่มชื้นของดิน ช่วยป้องกันการกัดเซาะผิวดินโดยน้ำและการกัดกร่อนผิวดินโดยลม ฟื้นฟูและอนุรักษ์ดิน ปุ๋ยละลายช้า MAP (Magnesium Ammonium Phosphate) ใช้หลักการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับการเพาะปลูก มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยจะมีอัตราการละลายที่ต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป การใส่ปุ๋ยลงไปในดินเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยพืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีการสูญเสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากมีการใช้ปุ๋ยละลายช้าอย่างแพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้ ทั้งนี้การตกตะกอนเกลือ MAP นอกจากจะเป็นวิธีการกำจัดไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำเสียที่มีแร่ธาตุได้อีกด้วย ให้สามารถผลิตปุ๋ยที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง หรือนำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์จาก filter cake ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงได้ โดยเฉพาะนำมาผสมกันตามสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมแก่พืชแต่ละชนิด ซึ่งจะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น และที่สำคัญมีประโยชน์ต่อพืช และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบัน สำหรับน้ำเสียที่ผ่านการแยกเกลือ MAP แล้ว จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา อีกทั้งคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาการสะสมเกลือในดิน และวิธีการตกตะกอนเกลือ MAP นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับน้ำเสียที่มีไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัสสูงได้ เช่น น้ำเสียชุมชน หรือน้ำเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ หรืออุตสาหกรรมห้องเย็น หรือน้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านปุ๋ย วว. โทร. 0-2577-9000 หรือ Call Center 0-2577-9300 E-mail : marketing_tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ