"ฉัตรชัย" เปิดแผนกู้วิกฤติยางทั้งระบบเอื้อกลไกราคาเกิดความยั่งยืน เล็งซื้อเทคโนโลยีการแปรรูปยางมาต่อยอด - เพิ่มนักวิจัยยาง หวังพัฒนาการผลิตและส่งออกยางแบบก้าวกระโดด ยันรับเบอร์ซิตี้ต้องเกิด

ข่าวทั่วไป Wednesday March 2, 2016 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราว่า ขณะนี้ได้วางแผนการพัฒนายางพาราของประเทศไว้ 3 ระยะ ซึ่งแผนระยะสั้นเฉพาะหน้าที่ยังคงต้องดำเนินการ คือ การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ที่พออยู่ได้ก่อน ทั้งโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท หรือสนับสนุนเงินกู้เพื่อสร้างอาชีพเสริมในสวนยาง และที่จะต้องเร่งดำเนิน การควบคู่กันให้เกิดขึ้นแม้ไม่สำเร็จทั้งหมดในรัฐบาลชุดนี้ แต่ต้องเริ่มต้นและเริ่มขับเคลื่อน ได้ คือ แผนระยะกลางระยะยาว โดยแผนระยะกลาง ได้แก่ การลดปริมาณพื้นที่ปลูกยางลง ซึ่งวันนี้การยางฯ ดำเนินการอยู่แล้วปีละ 4 แสนไร่ ซึ่งต้องทำต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับแผนระยะยาว คือ ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปยางและผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มสัดส่วนงานวิจัยที่เอายางพารามาใช้ประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด รวมทั้งต้องตั้งเป้าไว้เลยว่าเราจะพัฒนาวิจัยยางพาราให้เป็นสินค้าส่งออกของประเทศในอนาคตไปทั่วโลก สำหรับเรื่องรับเบอร์ซิตี้ก็ต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานแม้กระทรวงเกษตรฯจะไม่ใช่หน่วยหลัก ก็ต้องประสานทุกหน่วยร่วมกันขับเคลื่อน เช่น บีโอไอ กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งกับโรงงานแปรรูปยางที่มีอยู่แล้วก็ทำให้เข้มแข็งขึ้น ขยายโรงงานเพิ่ม แต่ต้องมีตลาดรองรับ ทั้งหมดนี้บอร์ดการยางต้องทำแผนเรื่องนี้อย่างชัดเจน และต้องผลักดันให้เกิดในรัฐบาลปัจจุบันให้ได้ด้วย เพราะถ้าเราไม่ทำวันนี้จะย้อนกลับไปเลิกปลูกยางก็คงไม่ใช่ มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องปลูกยางต่อไป และต้องปลูกในปริมาณที่มีแผนงานรองรับชัดเจน แผนงานที่จะใช้คือ ใช้ในประเทศ เพื่อส่งออก แปรรูป และเพื่องานวิจัยด้วย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาคิดวางแผนร่วมกัน และนำไปสู่การกำหนดพื้นที่ปลูกยาง ไม่ใช่ให้เลิกปลูกยาง เพราะว่าอย่างไรก็ตามเรามีจุดแข็งเรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทำให้ยางมีคุณภาพมากกว่าอินโดนีเซีย ดังนั้น เราต้องไม่ทิ้งโอกาส แต่ทำอย่างไรให้ปริมาณยางที่ปลูกทำให้เกิดประโยชน์กับชาวสวนยางจริงๆ และอีกประเด็นสำคัญ คือ ผลผลิตยางขั้นต้นที่เกษตรกรผลิตได้ ต้องมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรจะได้รับ การยางฯ ต้องเข้าไปแนะนำให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเกษตรกรให้ความสำคัญการผลิต คุณภาพของยาง อันนี้ทำได้เลยไม่ต้องรอเวลา สำหรับการต่อยอดงานวิจัยที่วันนี้เรามีสถาบันวิจัยยางแล้ว แต่ผลงานวิจัยเรายังไม่พัฒนาได้มากนัก เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ที่มีการพัฒนาไปถึงผลิตชิ้นส่วนอวกาศจากยางแล้ว ซึ่งการพัฒนาไปถึงจุดนั้นให้ทัน เราต้องใช้วิธีแบบก้าวกระโดด คือ ไปดูเทคโนโลยีแล้วซื้อมาเลยแล้วต่อยอดไม่ใช่มานับหนึ่งใหม่เรื่องนี้รัฐบาลต้องยอมลงทุน ถ้านับหนึ่งใหม่เราจะตามไม่ทันและแข่งขันไม่ได้ อาจจะในรูปแบบการซื้อโรงงาน หรือเชิญชวนนักลงทุนที่มีอยู่แล้วเข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกัน ปริมาณยางที่ใช้ในการแปรรูปที่ง่ายๆ เช่น ถุงมือยางที่มาเลเซียส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง เดิมเราเป็นแชมป์ แต่วันนี้เค้าเป็นแชมป์ เราต้องเพิ่มสัดส่วน การส่งออกกลับมาให้ได้ เพราะเรามีน้ำยางในมือ มาเลเซียต้องซื้อจากเรา เพราะฉะนั้นต้นทุนการผลิตของเราต้องถูกกว่า "ส่วนในเรื่องราคาที่จะทำให้สูงขึ้นนั้น สถานการณ์ขณะนี้ยังคิดว่ามันยากมาก ที่ผ่านมาคนที่บอกว่าทำราคายางสูงขึ้นมักจะใช้วิธีแบบเล่นข่าว ไม่ได้เกิดความยั่งยืน เป็นการปั่นหุ้น หรือใช้วิธีกระตุ้นตลาดในอนาคต แต่แน่นอนว่าราคาดีเกษตรกรได้รับประโยชน์แน่นอน แต่ว่าวิธีต้องมีหลัก มีระบบให้ราคายางพาราเกิดเสถียรภาพในระยะยาว ต้องพยายามทำให้เกิดให้ได้ วันนี้รัฐบาลยังต้องช่วยเหลืออยู่ ขณะที่มาเลเซียประเทศผู้ผลิตยางชั้นนำของโลกนั้นพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไรเลย เค้ารู้แล้วว่ามันไปไม่ได้ไม่ยั่งยืนนั่นหมายถึงว่าการช่วยเหลือแบบที่รัฐบาลไทยทำอยู่ มาเลเซียไม่ทำ แต่ว่ามาเลเซียทำในเรื่องยั่งยืน นั่นคือ การเอายางพาราที่ตัวเองมีอยู่ไม่มาก มาแปรรูป สร้างงานวิจัย กลายเป็นว่าเวลานี้ มาเลเซียเป็นประเทศที่วิจัยยางพาราเก่งที่สุดในโลก และเค้าสร้างระบบที่ยั่งยืนมันมา 20 กว่าปีขณะที่ไทยยังไม่เริ่มเลย ดังนั้น จะต้องเริ่มในรัฐบาลนี้ แต่ถามว่าเริ่มในรัฐบาลนี้แล้วจะอยู่จนสำเร็จหรือเปล่าคงเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาผมก็จะผลักดันให้เริ่มให้ได้" พลเอก ฉัตรชัยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ