กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันประเทศไทยไม่เคยพบโรคใบด่าง แต่ต้องมีมาตราป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

ข่าวทั่วไป Thursday March 3, 2016 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร มีมาตรการในการเฝ้าระวังโรคระบาดต่าง ๆ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันได้เกิดโรคใบด่างระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยในที่แรกเกิดขึ้นที่ประเทศแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา ล่าสุดที่กัมพูชา จากการนำต้นพันธุ์มาจากศรีลังกา ซึ่งการระบาดดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรได้ โดยในประเทศไทยไม่เคยเกิดโรคระบาดนี้มาก่อน และขอยืนยันว่าสาเหตุการเกิดโรคดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการป้องกันไว้อย่างชัดเจน พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า โรคใบด่างของมันสำปะหลัง มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวพาหะ ซึ่งจุดที่เกิดมากที่สุดคือช่วงที่มันสำปะหลังกำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะที่ใบและลำต้น ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 80% ทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งเมื่อเกิดโรคนี้แล้วจะทำให้เกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ วิธีการแก้ไข ได้แก่ การเผาทำลายต้นมันปะหลัง นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร มีมาตรการป้องกันการเกิดโรคใบด่าง คือ 1) ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศ และ 2) การกำหนดให้เป็นศัตรูพืชกักกัน โดยต้องระวังอาจพบในมะเขือเปราะ มันฝรั่ง และพืชตระกูลถั่ว สำหรับมาตรการควบคุมการเกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ 1) มาตรการทางกฎหมาย ใช้กำกับที่บริเวณจุดนำเข้า ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงในการลักลอบ โดยกำชับด่านทุกด่านให้ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด 2) กรณีเกิดการลักลอบนำเข้าหรือตรวจพบ โดยจะมีการปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือการเผาทำลาย และ 3) ทางวิชาการ ได้แก่ การตรวจสอบบริเวณใกล้เคียงที่ตรวจพบและมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะเขตชายแดน 6 จังหวัด ต้องมีการตรวจเฝ้าระวัง และต้องมีการตรวจสอบในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยการสุ่มตรวจสอบตามหลักสากลด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ