ปภ. แนะเรียนรู้ - รับมือวิกฤตหมอกควัน...ดำเนินชีวิตปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Monday March 7, 2016 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจากหมอกควัน โดยหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณหมอกควัน ป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้านเรือน โดยปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้ผ้าชุบน้ำหรือสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษรวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคุลม จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันเป็นไปอย่างปลอดภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หมอกควันเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เป็นอันตรายต่อสุขภาพและบดบังทัศนวิสัยในการจราจร ซึ่งมีสาเหตุจากไฟป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงและวัสดุทางการเกษตร การคมนาคมขนส่งและการจราจร รวมถึงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตหมอกควันในพื้นที่ ๙ จังหวัดภาคเหนือ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ ทำให้เกิดภาวะกักควัน ฝุ่นละอองหมอกควันไม่สามารถกระจายไปสู่พื้นที่อื่นได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ดังนี้ ไม่ประกอบกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ อาทิ ไม่เผาขยะ ไม่จุดธูปเทียน ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงลดการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงมากขึ้น หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้แรงมาก อาทิ การออกกำลังกาย การยกของหนัก เพราะเมื่อร่างกายเหนื่อยจะสูดดม ฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก ป้องกันฝุ่นละอองหมอกควันเข้าไปในบ้านเรือน โดยปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมนำผ้าชุบน้ำอุดตามช่อง เปิดพัดลมระบายฝุ่นละออง หรือติดตั้งระบบกรองอากาศ เพื่อลดการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่นละอองหมอกควัน หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติกรองฝุ่นละอองปิดปากและจมูก โดยเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวันหรือใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง พร้อมสวมแว่นตาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อลดการระคายเคืองตา ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ มิให้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละอองหมอกควัน หากมีอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพราะจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ไม่รองน้ำฝนมาอุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำฝนจะปนเปื้อนฝุ่นละอองหรือควันพิษที่ลอยอยู่ในอากาศ ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ กรณีขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม เปิดไฟหน้ารถหรือไฟตัดหมอก จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันอื่นได้มากกว่าปกติไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางเดินรถกะทันหัน หากมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัยรอจนกว่าหมอกควันเบาบาง ค่อยขับรถไปต่อ สำหรับการป้องกันปัญหาหมอกควัน กำหนดเขตการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยจัดทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ลุกลามเป็นไฟป่า ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน จัดระเบียบและช่วงเวลาในการเผา เพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิง โดยจัดสลับช่วงเวลาในการเผาและชิงเผาก่อนช่วงวิกฤตหมอกควัน ทั้งนี้ การเรียนรู้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อประสบสถานการณ์หมอกควัน จะช่วยลดผลกระทบ ทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่ประสบวิกฤตหมอกควันเป็นไปอย่างปลอดภัย 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ