'MPPM นิด้า' ส่องเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/59 ซึม แนะรัฐเร่งขับเคลื่อนผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 23, 2016 19:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM นิด้า ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ส่งเค้าชะลอตัวชัดเจน หลังตัวเลขส่งออก อัตราเงินเฟ้อ การลงทุนภาคเอกชนและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไทยและความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงตามไปด้วย ผลักเศรษฐกิจไทยเข้าข่ายภาวะเงินฝืด ชี้นโยบายการเงินไม่ช่วย แนะภาครัฐเร่งขับเคลื่อนผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM)สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งสัญญาณไม่ดีนัก สะท้อนได้จากระดับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงลดติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน จากระดับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวลดลงจาก 0.96 ในเดือนกันยายนปีก่อน มาอยู่ที่ 0.68% ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 และระดับเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ -0.5% ผันผวนติดลบติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 14 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2558 ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกุมภาพันธ์ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 63.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ภาคครัวเรือนมีความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม และปัญหาระดับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนซบเซา เกิดการชะลอตัวในอุปสงค์ภายในประเทศ บ่งชี้ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ "ความกังวลด้านการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้สัญญาณการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลงตามไปด้วย รวมถึงดังชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยก็ลดลงอยู่ที่ระดับ 86.3 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาตามไปด้วย จึงสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนที่ซบเซา จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน" รศ.ดร.มนตรี กล่าว ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM กล่าวว่า จากภาวะดังกล่าว การใช้นโยบายการเงินจึงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งใช้นโยบายการคลังผ่านการลงทุนของภาครัฐโดยการเพิ่มอัตราการเร่งการใช้จ่ายเงินให้เร็วขึ้นผ่านงบประมาณแผ่นดิน 2.72 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุนประมาณ 5.43 แสนล้านบาทและงบรัฐวิสาหกิจ 1.44 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการเบิกจ่ายไปเพียง 30.87% เท่านั้น จึงยังเหลืองบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกมากที่ภาครัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่าย รวมถึงงบคงค้างของปี 2558 อีก 1.06 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบันให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศด้วยงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะงบลงทุนโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมระยะเร่งด่วนจำนวน 20โครงการในปี 2559 ที่มีงบประมาณกว่า 1.79 ล้านบาทไปพร้อมกัน ซึ่งรัฐบาลมีศักยภาพและความพร้อมในการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การระดมทุนผ่านงบประมาณแผ่นดิน การใช้รายได้จากรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการหรือการกู้เงินที่ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 44.6% ของจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่าระดับความมั่นคงทางการคลังอยู่มาก ตลอดจนรัฐบาลยังสามารถดำเนินการร่วมทุนกับภาคเอกชน (PPPs) และระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกช่องทางหนึ่ง "จากภาวะเศรษฐกิจไทยเช่นนี้ การใช้นโยบายการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.50 ต่อไป และหันมาเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ งบลงทุน งบคงค้างของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนและเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกให้ดูดีขึ้น" รศ.ดร.มนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ