จิตแพทย์ชี้ผู้ชายวัยทองก็มีปัญหาทางด้านจิตใจและทางเพศมาก

ข่าวทั่วไป Thursday October 5, 2000 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
แพทย์เตือนชายไทยที่อยู่ในวัยทอง (อายุ 40-60 ปี) ควรเตรียมสภาพจิตใจรับความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายเช่นเดียวกับผู้หญิงวัยทอง เพราะพบว่าชายไทยมีปัญหาทางเพศมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนเพศที่ลดลง และปัญหาทางด้านจิตใจ คือ โรคซึมเศร้าและโรคเครียด
น.พ. นิพัทธิ์ กาญจนธนาเลิศ จิตแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย กล่าวว่า "ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครพูดถึงปัญหาของผู้ชายวัยทอง สนใจกันแต่ปัญหาของผู้หญิงวัยทอง ทำให้ผู้ชายวัยทองคิดว่าตัวเองไม่มีปัญหา ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ชายวัยทองมีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและด้านจิตใจเหมือนกัน เช่น 1) อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย หงุดหงิด วิตกกังวล 2) กล้ามเนื้อหดตัว กำลังวังชาถดถอย 3) ระดับโคเลสเตอรอล สูงขึ้น 4) จิตอารมณ์แปรปรวน ขาดความคิดริเริ่ม 5) อ้วน และไขมันเพิ่มขึ้น"
น.พ. นิพัทธิ์ กล่าวเสริมว่า "มีผู้ชายวัยทองมารับคำปรึกษาจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาพบแพทย์หลังอายุ 50 ปีแล้ว เพราะตอนอายุ 40 ปี ยังไม่ค่อยสนใจเรื่องสุขภาพเท่าไหร่นัก ปัญหาที่พบมากก็คือ ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งแพทย์ต้องหาสาเหตุว่ามาจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาฮอร์โมนหรือปัญหาทางด้านจิตใจ เพราะยิ่งอายุมากขึ้นปัญหาก็มากขึ้นตามไปด้วย"
ภาวะการเปลี่ยนแปลงจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางคนที่แข็งแรงจะยังมีฮอร์โมนเพศชาย เพียงพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้ แต่ที่แพทย์พบบ่อยคือ การสร้างของฮอร์โมนเพศชายลดลง หากลดลงเล็กน้อยจะไม่มีปัญหา แต่หากลดลงมาต่ำกว่าเดิมถึง 20% ก็จะเริ่มมีปัญหาว่า อารมณ์ทางเพศน้อยลง วงการแพทย์ต่างประเทศจึงมีการศึกษาเรื่องการใช้ฮอร์โมนในการรักษา ซึ่งพบว่ามีส่วนช่วยได้บ้าง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีงานวิจัยชัดเจน
ปัญหาทางจิตใจที่ทำให้มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่พบบ่อยมาจาก 2 สาเหตุ คือ วัย 40-60 ปี จะมีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า และปัญหาโรคเครียด ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าประมาณ 70% มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และพบว่าประมาณ 20-25% รุนแรงถึงขนาดไม่มีการตอบสนองทางเพศเลย และในผู้ป่วยที่เครียด จะทำให้อารมณ์ตอบสนองต่อเพศตรงข้ามไม่นุ่มนวล รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานมาก หัวใจเต้นเร็วมาก กล้ามเนื้อตึง ทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์ก็จะเหนื่อยกว่าปกติ และเมื่อเครียดมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วมากในขณะมีเพศสัมพันธ์ก็จะเกิดอาการกลัว และไม่กล้ามีเพศสัมพันธ์ต่อ หรือ การตอบสนองทางเพศอาจไม่เหมาะสม เช่น เกิดอาการหลั่งเร็ว หรือ หลั่งช้า ได้
น.พ. นิพัทธิ์ อธิบายถึงการรักษาว่า "การรักษาทำโดยการบำบัดด้านกายและจิตควบคู่กันไป โดยอาจจะให้ยาช่วยเรื่องซึมเศร้าและเรื่องความเครียด พร้อมกับให้ยาช่วยรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมไปด้วย หรือ ในรายที่ระดับฮอร์โมนต่ำมากก็อาจจะต้องใช้ฮอร์โมนช่วยด้วย พบว่าผู้ป่วยหลายรายที่เคยมีความกังวลในการใช้ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศชนิด รับประทานพอใจกับการใช้ยา เมื่อแพทย์ได้อธิบายและตรวจร่างกายก่อน บางรายมีปัญหาทางด้านจิตใจ พอได้ใช้ยาแล้ว ประสิทธิภาพทางเพศดีขึ้น ก็จะเกิดความมั่นใจ แล้วจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ต่อไปเองได้ ความกังวลก็ลดน้อยลง"
"ผู้ชายก็เหมือนกับผู้หญิงที่ไม่ยอมรับเรื่องความชรา และพยายามจะชะลอความชราไว้ให้นานที่สุด ซึ่งความชราก็รวมทั้งหน้าตา ผิวพรรณ และความรู้สึกทางเพศด้วย ทั้งหญิงและชายไทยต่างก็ไม่กล้าปรึกษาแพทย์ในเรื่องความชรา และสุขภาพทางเพศ แต่แพทย์พบว่าตั้งแต่ที่ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย ได้เผยแพร่ความรู้และให้บริการคำปรึกษาทางฮอตไลน์ 6351001ได้ช่วยให้ผู้ชายกล้ามาปรึกษาแพทย์มากขึ้น บรรดาผู้ชายวัยทองจะแอบมาพบแพทย์ เพราะเพื่อนแนะนำมา แต่มักจะไม่ยอมมาพร้อมกับภรรยา ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยมาปรึกษาเรื่องเพศที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เดือนหนึ่งเฉลี่ยมากกว่า 20 ราย"
น.พ. นิพัทธิ์ กล่าวต่อไปว่า "ครอบครัวที่ชายไทยมีปัญหาเรื่องเพศนั้น ถ้าภรรยาอายุไม่มาก จะรู้สึกว่าไม่พอใจที่สามีห่างเหิน ในขณะที่ผู้ชายจะขาดความมั่นใจในตัวเอง จึงทำให้ภรรยาเกิดความเข้าใจผิดว่าผู้ชายไปมีคนอื่น ทำให้ไม่มีความสุขเท่าที่ควร แต่ถ้าภรรยาอยู่ในวัยทองเหมือนกัน ผู้หญิงก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน ผู้ชายจะเดือนร้อนเอง เนื่องจากว่าสมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง ความสามารถน้อยลง ทำให้ขาดความภูมิใจตัวเอง และขาดความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ ก็จะรีบไปหาหมอเพื่อรับการรักษา"
"ปัญหาทางเพศเป็นปัญหาของทั้งสามี-ภรรยา ไม่ควรโทษกันไปโทษกันมา โยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง ควรจะร่วมมือกันแก้ไข ก็จะได้ประโยชน์ ครอบครัวก็จะมีความสุขมากขึ้น"
ข้อแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพของผู้ชายวัยทอง คือ ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ระบบในร่างกายจึงจะดีขึ้น เช่น ระวังอย่าให้เป็นโรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานจะทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลงเร็ว ระวังเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ และควรออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน ควรลดอาหารประเภทไขมัน อย่าให้เครียดเรื่องจิตอารมณ์ ไม่ควรทำงานจนหักโหม หรือ เครียดเกินไป อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของปัญหาสังคมและภายในบ้าน พยายามรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี และพยายามไม่เกิดอารมณ์ที่เป็นลบต่อกัน หากเมื่อใดมีปัญหาทางเพศควรปรึกษากันและร่วมมือกันรักษา
สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อขอรับเอกสาร หรือคำปรึกษาได้ฟรี ที่ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย โทรศัพท์ ฮอตไลน์ 635 1001 หรือตู้ ป.ณ. 2513 กรุงเทพฯ 10501 หรือ โทรสาร 656 8455 หรือเว็บไซต์ http://menhealth.pfizer.co.th โดยจดหมายหรือคำถามที่ส่งเข้ามา ศูนย์ข้อมูลฯ จะเก็บไว้เป็นความลับ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล / นิโลบล โควาพิทักษ์เทศ
บริษัท แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 257 0300
โทรสาร 257 0312--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ