Movie Guide: The Idol คว้าไมค์ สู้ฝัน

ข่าวบันเทิง Monday March 28, 2016 09:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--M Pictures เนื้อเรื่อง อาณาเขตฉนวนกาซ่า ดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ต่างทำลายล้างซึ่งกันและกัน ความสิ้นหวังที่ยังปกคลุมทุกมวลชน แต่สำหรับ โมฮัมเหม็ด อัสซาฟ และ โนร์ น้องสาวของเขา เขตฉนวนกาซาคือบ้านเกิดและสนามเด็กเล่นของพวกเขา ที่ ๆ พวกเขาและผองเพื่อนเล่นฟุตบอลและเล่นดนตรีด้วยกัน พวกเขามีความฝันอันยิ่งใหญ่นั่นคือการได้เล่นคอนเสิร์ตที่ไคโร โอเปร่า ฮอลล์ซึ่งพวกเขาต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อไขว่คว้า แต่โมฮัมเหม็ดรู้ว่าความฝันบางอย่างมีค่ามากพอที่จะคว้าให้ได้ ตลอดระยะเวลาในการสานฝัน เขาต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมและการสูญเสีย โลกทั้งใบรอบๆเขากำลังแหลกสลายด้วยสงคราม ทว่าเขายังมีความหวังว่าเสียงเพลงของเขาจะฉุดรั้งให้พ้นจากความเจ็บปวดและมอบความสุขให้ผู้อื่น เขาร้องเพลงในงานแต่งงาน ขับแท็กซี่เพื่อส่งเสียตนเองเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ว่าสถานการณ์ที่ฉนวนกาซาจะรุนแรงและเป็นอุปสรรคขวางกั้นมากแค่ไหน เขาเชื่อว่าพรสวรรค์ของเขาจะทำให้ผู้คนมีรอยยิ้มและลบเลือนปัญหาได้ จนกระทั่งการออดิชั่นเพื่อเข้าร่วมแข่งขันรายการเรียลลิตี้โชว์ประกวดร้องเพลงอันดับหนึ่งของโลกอาหรับอย่างอาหรับ ไอดอล ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ได้เริ่มต้นขึ้น ชายแดนยังถูกปิด แต่เขาก็ยังหาฝ่าฟันเพื่อที่จะไปยืนอยู่บนเวทีต่อหน้ากรรมการให้ได้ โชคชะตากำลังรอเขาอยู่ โอกาสที่เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเขาและโอกาสที่เสียงเพลงของเขาจะมอบอิสรภาพและความรักก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เบื้องหลัง ภาพยนตร์อิงจากเรื่องจริงสุดประทับใจของโมฮัมเหม็ด อัสซาฟ ชายชาวปาเลสไตน์ ผู้ลี้ภัยสงครามจากฉนวนกาซ่า มาสานความฝันการเป็นนักร้องจนชนะใจคนทั่วโลกเมื่อเขาสามารถคว้าแชมป์การประกวดเฟ้นหาศิลปิน "อาหรับ ไอดอล" ในปี 2013 ต่อมาเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและโอกาสที่เป็นไปได้ เขาเกิดที่ประเทศลิเบีย แต่เติบโตที่ค่ายผู้ลี้ภัย แถบฉนวนกาซ่า เขาร้องเพลงตามงานแต่งงานและขับรถแท็กซี่เพื่อส่งเสียตนเองเรียนมหาวิทยาลัย แม้เขาต้องสูญเสียคนรักและเพื่อนสนิทเนื่องจากสภาพแวดล้อมและภาวะสงคราม เขาก็ยังไม่ไร้ซึ่งความหวัง เขาหาทางหลบหนีออกจากกาซ่า มุ่งสู่ไคโร ประเทศอียิปต์เพื่อออดิชั่นรายการประกวด อาหรับไอดอล แต่เมื่อเขาไปถึง บัตรสำหรับออดิชั่นก็ถูกแจกหมดไปแล้ว เขาจึงกระโดดฝ่ารั้วเข้าไปในโรงแรมที่จัดประกวด เขาร้องเพลงให้ผู้สมัครคนอื่นฟัง และแล้วหนึ่งในผู้สมัครก็ตัดสินใจมอบบัตรออดิชั่นให้แก่เขา เรื่องราวที่เหลือก็คือบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งการแข่งขันรอบสุดท้ายของเขาได้กลายเป็นหนึ่งในรายการทีวีที่มีผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์ชาติอาหรับ ผู้ชมกว่าสิบล้านคนเปิดทีวีชมการแสดงของเขา บทเพลงที่เขาถ่ายทอดออกมาได้ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเชื้อชาติและเรียกรอยยิ้มของผู้คนกลับมา เรื่องราวของโมฮัมเหม็ด อัสซาฟคือช่วงเวลาน่าจดจำของชีวิตและถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้คนหันมาเหลียวมองชนกลุ่มน้อยที่มักถูกนำเสนอในแง่ลบ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณและสัญลักษณ์ของความฝันที่เป็นจริงและสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ ประวัติของผู้กำกับ ฮานี อาบู-อัซซาด ฮานี อาบู-อัซซาด เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ มากฝีมือระดับนานาชาติ ผลงานการกำกับอันโดดเด่นคือ Paradise Now (2006) และ Omar (2013) ซึ่งทั้งสองเรื่องสามารถกวาดคำชมจากนักวิจารณ์และคว้ารางวัลสำคัญๆมานับไม่ถ้วน อาทิ รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำ (จากหนังเรื่อง Paradise Now) รางวัลThe Special Jury Prize สาขา Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (จากหนังเรื่อง Omar) จนถึงเข้าชิงออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศทั้งสองเรื่อง เขาเกิดที่นครนาซาเร็ธ ปาเลสไตน์ในปี 1961 เขาจบการศึกษาสาขาวิศวกรรมการบินและทำงานเป็นวิศวกรที่ประเทศเนเธอแลนด์ จนกระทั่งปี 1994 เขาเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Curfew กำกับโดย ราชิด มาชาราวี ในปี 1998 อัซซาดกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Fourteenth Chick เป็นเรื่องแรกจากบทภาพนตร์โดย อาร์นอน กรันเบิร์ก ตามด้วยสารคดีเรื่อง Nazareth 2000 และภาพยนตร์คนแสดงเรื่อง Rana's Wedding แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงนานาชาติให้แก่เขามากที่สุดคือเรื่อง Paradise Now ในปี 2006 ซึ่งเล่าเรื่องชายชาวปาเลสไตน์สองคนที่ตัดสินใจกลายเป็นมือระเบิดพลีชีพในกรุงเทล อาวีฟ ภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำ และเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม นอกจากนี้เขายังทำหนังภาษาอังกฤษเรื่อง The Courier ปี 2011 นำแสดงโดย เจฟฟรีย์ ดีน มอร์แกน และ มิคกี้ รู้ก และในปี 2013 หนังเรื่อง Omar ก็คว้ารางวัลThe Special Jury Prize สาขา Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเป็นเรื่องที่สอง และแล้วในปีนี้ เขามาพร้อมกับ The Idol คว้าไมค์ สู้ฝัน ผลงานกำกับล่าสุดที่จะมอบความอบอุ่นและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม คำแถลงการณ์จากผู้กำกับ ผมมักถามตัวเสมอว่าทำไมถึงอยากทำหนังเรื่องนี้และใช้เวลาเกือบสองปีของชีวิตกับการทุ่มเททำหนังเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ คำตอบมันง่ายและชัดเจนเลยว่าเรื่องราวของชายหนุ่มนาม โมฮัมเหม็ด อัสซาฟ น่าทึ่งมากจนตัวผมที่พึ่งคว้ารางวัลในเทศกาลหนังเมืองคานส์ รู้สึกตื่นเต้นที่เห็นเขากำลังคว้าชัยในรายการอาหรับ ไอดอล มากกว่าตัวผมเองเสียอีก ผมเห็นผู้คนกว่าพันคนรวมตัวกันที่จตุรัสในกรุงนาซาเร็ธเพื่อฟังผลคำตัดสินรอบสุดท้ายของรายการ ผมกระโดดโลดเต้นราวกับเด็กและผมก็ไม่เคยรู้สึกตื่นเต้นแบบนี้มานานมากแล้ว จนกระทั่ง อาลี จาฟาร์ (ผู้อำนวยการสร้าง) เสนอให้ผมกำกับหนังเกี่ยวกับโมฮัมเหม็ด อัสซาฟ แขนผมก็ขนลุกซู่และผมรู้ทันทีว่าผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องราวของเขากลายเป็นหนังยอดเยี่ยมให้ได้ ผมดูรายการอาหรับ ไอดอลในฐานะเรื่องราวการต่อสู้และความมุ่งมั่นในการเอาตัวรอดภายใต้สถานการณ์เลวร้าย อีกทั้งยังเป็นเรื่องราวของความหวังและความสำเร็จของสองพี่น้องในเรื่องที่สามารถแปรเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส และทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ พวกเขาซึ่งมาจากแดนทุรกันดาร ต้องรับมือกับความยากจน การถูกรุกรานและการถูกกดขี่จากอำนาจโดยมิชอบ แล้วทั้งสองสามารถเปลี่ยนแปลงความอัปลักษณ์ให้กลายเป็นความงดงาม ซึ่งท้ายสุดแล้ว ความงามนั้นคือพลังที่อยู่เบื้องหลังงานศิลปะและเชื้อเพลิงที่หล่อเลี้ยงความหวัง เบื้องหลังงานสร้าง ฮานี อาบู-อัซซาด และทีมงานลงมือถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในเดือนมกราคม ปี 2014 ที่ฉนวนกาซ่าจริงๆ แม้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากขนส่งทีมงานให้ถึงที่หมายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเกิดเหตุทิ้งระเบิดได้ทุกเมื่อ แต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกัน หนังก็ได้ทีมนักกีฬาปากัวร์ (วิ่งผาดโผน) จากกาซ่ามาแสดงฉากเอาตัวรอดในสภาวะคับขันที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมได้ ความมุ่งมั่นที่จะทำหนังเรื่องนี้ให้ถูกต้องตรงตามเหตุการณ์เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ อัซซาดตัดสินใจเลือกเด็กๆจากาซ่ามาแสดงหนังเรื่องนี้ โดยทีมงานได้จัดออดิชั่นตามโรงเรียนต่างๆในที่สุด ก็ได้สี่นักแสดงเด็กมารับบทสำคัญๆซึ่งแม้จะเล่นหนังเป็นครั้งแรกแต่พวกเขาก็ฝากฝีมือการแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับทีมงานสร้างหนังของอัซซาดที่ล้วนเป็นชาวปาเลสไตน์ และเคยทำงานร่วมกับอัซซาดมาแล้ว พวกเขาจึงคุ้นเคยและเข้าใจสไตล์การกำกับของเขา ทีมงานถ่ายทำหนังที่รัฐปาเลสไตน์ นั่นคือฉนวนกาซ่าและเขตเยนิน รวมถึงกรุงเบรุตประเทศเลบานอน และกรุงไคโร ประเทศอียิปต์สำหรับฉากรายการอาหรับไอดอลเพื่อเสริมสร้างความสมจริงให้แก่หนังมากขึ้น ตัวอย่างภาพยนตร์ https://www.youtube.com/watch?v=KqUiwmAcDbg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ