กรมสุขภาพจิต จับมือ องค์กรใหญ่ ให้โอกาสออทิสติก พิสูจน์ฝีมือ

ข่าวทั่วไป Thursday March 31, 2016 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--กรมสุขภาพจิต แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมด้วย นายกิติพัฒก์ เนื่องจำนงค์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทโมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะ เชิญสื่อมวลชนร่วมสะท้อนศักยภาพเด็กออทิสติกทำงานหารายได้ช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ณ บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็น 1 ใน หลายองค์กรใหญ่ ที่ขานรับออทิสติกเข้าร่วมทำงาน ย้ำ ออทิสติก พัฒนาได้ กลับสู่สังคมได้ ขอเพียงเข้าให้ถึงบริการและได้รับโอกาสที่ดีจากสังคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก โดยปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิดออทิสติกกับเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้า ปี ค.ศ.2030 มุ่งสู่คุณภาพทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งเสริมการทำงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้ได้รับการจ้างงาน ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งนี้ ออทิสติก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบได้ 6 ต่อ1,000 ราย ล่าสุด พบ ทั่วประเทศ มีออทิสติกกว่า 3 หมื่นราย อาการหรือสัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ออทิสติก สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ พัฒนาได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและมีคุณค่า ทำงาน ตลอดจนพึ่งพิงตนเองได้ โดย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายในการจัดบริการเข้าถึง เพิ่มการตรวจคัดกรองหาภาวะออทิสติกในคลินิกสุขภาพเด็กดี ให้บริการฉีดวัคซีนและติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอดทุกคนจนถึงอายุ 5 ปี ตรวจเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป เนื่องจาก หากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้และเข้าโรงเรียนได้ตามวัย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม และเข้มข้น โดยการผสมผสานวิธีการต่างๆ ทั้งในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ ตลอดจนสวัสดิการสังคมและการดำเนินชีวิตในชุมชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการให้เด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติและบำบัดรักษา กระตุ้นพัฒนาการ ตลอดจนปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ตั้งแต่การจัดระบบคัดกรองพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสม และที่สำคัญ การเข้าใจและให้โอกาสกับบุคคลกลุ่มนี้ ไม่มองพวกเขาเป็นส่วนเกินของครอบครัว และสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน ย่อมช่วยให้พวกเขามีโอกาสในการรักษา และสร้างพื้นที่ในสังคมเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไปได้ การคืนบุคคลออทิสติกสู่สังคม จึงจำเป็นต้องมี "พันธมิตร" ในภาคสังคมที่สำคัญ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีหลายองค์กรภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 10 องค์กรได้ให้โอกาสพวกเขาพิสูจน์ศักยภาพ รับเข้าทำงานไม่น้อยกว่า 30 ราย และ 1 ในนั้น คือ บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมา รับบุคคลออทิสติกเข้าทำงาน จำนวน 6 รายด้วยกัน ตลอดจน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลบางนา 2 และ 5 โรงพยาบาลมนารมย์ บริษัท เอส เทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สำนักงานจัดหางาน เขตพื้นที่ 1 และ บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทปิติห้องเย็น จ.สมุทรปราการ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว ด้าน นายกิติพัฒก์ เนื่องจำนงค์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทโมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทได้ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของผู้พิการและผู้ป่วยออทิสติกที่มีสิทธิเท่าเทียมในการประกอบอาชีพและได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งปัจจุบัน ได้รับจ้างงานเป็นพนักงานของบริษัททั้งสิ้น 6 ราย ปฏิบัติงานตามแผนกต่างๆ ตามความถนัดและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน ทั้งนี้ บริษัทจะประสานงานกับ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ผ่านทางหัวหน้าโครงการทดลองจ้างงาน ของ รพ. เพื่อคัดเลือกน้องๆที่มีความพร้อมและมีความสามารถที่จะทำงานได้ส่งมาให้บริษัทฯทำการคัดเลือกเข้าทำงานตามความถนัดของแต่ละคนต่อไป โดยได้กำหนดให้เด็ก 1 คนมีพี่เลี้ยง 1 คน ภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ ซึ่งระหว่างที่น้องๆทำงานอยู่ที่บริษัทฯ เรายังต้องดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด โดยใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมร่วมกับพี่เลี้ยง ตลอดจนปรึกษาถึงวิธีการดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับจิตแพทย์และหัวหน้าโครงการทดลองจ้างงาน รพ.ยุวประสาทฯ มาโดยตลอด พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผอ.โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม บุคคลออทิสติกที่จบการศึกษาหรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพและเป็นภาระในครอบครัว จากการสำรวจของ The National Autistic Society (NAS) ของประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่เพียง 15% ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยออทิสติกถูกจัดว่าเป็นแรงงานที่ไม่ความชำนาญจึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อยและมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน และจากข้อมูลของมูลนิธิบุคคลออทิสติกไทย พบว่า มีบุคคลออทิสติกจำนวนไม่ถึงร้อยคนที่มีงานทำหรือสามารถประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว สามารถช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆน้อยๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเปิดโอกาสให้พวกเขามีที่ยืนในสังคมต่อไปได้ ซึ่งกรมสุขภาพจิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว มอบหมายให้โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ พัฒนาความพร้อมของบุคคลออทิสติกในการเข้าสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง โดยได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการมีงานทำสำหรับบุคคลออทิสติกที่มีประสิทธิภาพเพื่อการส่งเสริมโอกาสได้ใช้ความสามารถ มีงานทำ มีรายได้และพึ่งพาตนเอง ลดภาระและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดย ในวันที่ 1 เมษายน 2559 จะมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ การนำเสนอแนวคิดและแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ และวันที่ 2 เมษายน ซึ่งตรงกับวันออทิสติกโลก จะมีกิจกรรมAutism Awareness Run & Walk 2016 เพื่อสร้างความตระหนัก รับรู้เข้าใจเกี่ยวกับโรคออทิสติก จึงขอฝากสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ข้อมูลและเชิญชวนให้ติดตามกิจกรรมดังกล่าวเพื่อแพร่แก่สาธารณชนต่อไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ