อย่าประมาท 5 โรคร้ายที่มากับฤดูร้อน

ข่าวทั่วไป Thursday April 7, 2016 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพโรงพยาบาลกรุงเทพ อากาศเมืองไทยมีแนวโน้มจะร้อนมากขึ้นทุกปีๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี จัดว่าเป็นเดือนที่ร้อนกันแบบสุดๆ และในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ผู้คนมักเจ็บป่วยกันได้ง่ายขึ้น วันนี้ ศูนย์วิจัยสุขภาพโรงพยาบาลกรุงเทพโรงพยาบาลกรุงเทพ ขอฝากสาระความรู้เกี่ยวกับสารพันโรคยอดฮิตที่มักจะมากับฤดูร้อน ให้ทุกคนได้เตรียมรับมือป้องกันโรคต่างๆ อย่างสุขกายสบายใจ โรคแรกที่ทุกคนสามารถพบเจอได้บ่อยในฤดูร้อนก็คือ "อาหารเป็นพิษ" ซึ่งเกิดจากความประมาทในการรับประทานอาหาร ในทุกๆ มื้ออาหารต่างมีเชื้อโรคแฝงตัวอยู่เสมอ หากผู้รับประทานไม่คัดสรรหรือเลือกอาหารที่สุก สะอาด ถูกหลักอนามัยแล้วก็สามารถเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ทุกเมื่อ เนื่องจากฤดูร้อนทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและมีความรุนแรงมากขึ้น อาการที่บ่งบอกถึง "โรคอาหารเป็นพิษ" สามารถสังเกตุง่ายๆ คือ ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และบางท่านอาจมีอาการทางประสาท ซึ่งหากใครรู้สึกว่าตนเองเกิดอาการข้างต้นนี้ให้สงสัยไว้เลยว่าท่านกำลังเผชิญกับ 'โรคอาหารเป็นพิษ' เข้าแล้ว สำหรับการรักษาเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียและหมดแรงควรจะดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำในร่างที่เสียไปเพราะหากเกิดอาการขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการช็อค ควรทานอาหารที่อ่อนและย่อยได้ง่าย ที่สำคัญไม่ควรทานยาหยุดถ่ายเพราะการถ่ายนั้นคือการที่ร่างกายขับเชื้อโรคออกมา และหากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการทางประสาทควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จะแย่งเชื้อจากอุจจาระนำมาวินิจฉัยและรักษาตามอาการต่อไป โรคถัดมาที่พบบ่อยคือ "ไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อย" เป็นโรคติดต่อจากเชื้อ Salmonella Typhi และ Salmonella poratyphi ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะแฝงตัวอยู่ในน้ำและอาหารเรารับประทานไป ซึ่งหากรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด หรือใช้มือที่ไม่สะอาดหยิบอาหารทานจะมีโอกาสเป็นโรคไทฟอยด์ได้ตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อนี้จะมีอาการคล้ายๆ อาหารเป็นพิษ แต่จะแสดงอาการใน 3-21 วัน ขึ้นอยู่เชื้อที่ร่างกายได้รับ อาการที่แสดงให้เห็นได้ชัดที่สุดคือจะมีไข้สูงขึ้นเรื่อยๆ และไข้จะลดในช่วงเช้า จะมีเหงื่อออก ปวดศรีษะ ไอ เบื่ออาหาร และมีอาการท้องผูกร่วมด้วย ภายใน 7 วันไข้จะคงที่ที่ 39-40 องศา และจะมีอาการท้องร่วง ผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งหากผู้ป้วยไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ อาการก็จะรุนแรงขึ้นถึงขั้นโคม่าจะมีโอกาสเสียชีวิต 10- 20% และผู้ป่วยอาจเกิดโรคแทรกซ้อนเช่น เลือดออกทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ ไตวาย ช่องท้องอักเสบ จะทำให้อาการรุงแรงมากขึ้น โดยการรักษาของแพทย์จะทำการเพาะเชื้อได้จากเลือด ไขกระดูกหรืออุจจาระและ ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา หากไม่ต้องการที่จะพบเจอกับโรคนี้ควรจะเลือกทานอาหารและน้ำที่สะอาด หลีกเลี่ยงการทานอาหารดิบ จะทำให้ท่านห่างไกลจากโรค "ไทฟอยด์" โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นอีกโรคที่ต้องพึงระวังให้มาก เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ด้วย และเป็นโรคที่ร้ายแรงเลยทีเดียว โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies virus ที่อยู่ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด หากโดนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดแล้วติดเชื้อ Rabies virus นั้นมีโอกาสติดโรคได้มาก หากโดนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดสิ่งแรกที่ต้องทำคือควรล้างแผลให้สะอาด และจดจำลักษณะอาการของสัตว์ที่กัดและตามหาเจ้าของเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการทำวัคซีนของสัตว์ตัวนั้น หลังจากนั้นควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี เพราะเชื้อจะใช้เวลา 2-8 สัปดาห์ในการฟักตัว หรืออาจแค่ 5 วันเท่านั้น ซึ่งโรคนี้จะสามารถรักษาได้โดยการฉีดวัคซีน ในปัจจุบันการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้านั้นไม่จำเป็นต้องฉีดรอบสะดือแล้ว แต่ควรฉีดให้ครบ 4-5 เข็มพื่อประสิทธิภาพของวัคซีน และหากผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะโดนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดก็สามารถฉีดเพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้าได้อีกด้วย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กวัย 6 เดือน – 12 ปี ซึ่งหากเกิดขึ้นกับเด็กจะมีอาการที่รุนแรงและอันตรายมาก สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเป็นเมื่อเป็นโรคนี้คือ สภาวะการขาดน้ำของร่างกาย ซึ่งในช่วงแรกจะเกิดอาการกระหายน้ำและอ่อนเพลีย ช่วงที่สองจะมีอาการเดินไม่ไหว ปากแห้ง ซึม ชีพจรเต้นผิดปกติ และในทารกจะพบอาการกระหม่อมบุ๋ม และขั้นที่สามจะเป็นขั้นที่ขาดน้ำรุนแรงที่สุดจะมีอาการไม่สามารถลุกขึ้นนั่งไม่ได้ มือเท้าเย็น ไม่ปัสสาวะ ความดันโลหิตต่ำ และจะเกิดอาการช็อคในที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการที่ไม่หนักมาจะสามารถปฐมพยาบาลได้โดยการให้ผู้ป่วยทานโจ๊ก ข้าวต้ม ไม่ควรให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหาร แต่ควรงดอาหารที่มีส่วนประกอบของนม ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายหากอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิมควรพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในขั้นต่อไป โรคสุดท้ายถือได้ว่าเป็นโรคที่มาพร้อมกับอากาศร้อนและสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยนั่นคือ โรคฮีท สโตรก (Heat stoke) หรือโรคลมแดด ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของมนุษย์จะสามารถทนความร้อนได้ถึง 40 องศาเซลเซียส ถ้าหากมีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียสก็จะทำให้เกิดอาการเป็นลมแดด ที่มีอาการเบื้องต้นคือ หน้ามืด ปวดศรีษะ ความดันต่ำ ร่างกายจะไม่มีเหงื่อและอุณหภูมิของร่างกายนั้นจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดไม่สามารถระบายเหงื่อออกมาได้ หายใจเร็ว ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีผลต่อการไหลเวียนของโลหิต อาจทำให้เกิดอาการชัก กระตุก ถึงขั้นหมดสติในที่สุด หากมีอาการเหล่านี้ควรจะหาที่มีอากาศเย็นถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำเย็นเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง หากพบผู้ที่มีอาการโรคฮีทสโตรกควรนำมาหลบในที่ร่มและหาวิธีระบายความร้อนในร่างกายให้เร็วที่สุด เช่น การใช้ผ้าเย็นเช็ดให้ทั่วตัวผู้ป่วยโดยเน้นบริเวณข้อพับ ควรจัดท่าให้ผู้ป่วยยกเท้าขึ้นสูงเพื่อให้เลือดไหลไหลเวียนไปยังหัวใจได้ดีขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว จะมีการช่วยเหลือโดยการกู้ชีพเบื้องต้นและจะลดอุณหภูมิของร่างกายด้วยวิธีทางกายภาพ ทั้งนี้หากรู้ว่าต้องทำกิจกรรมที่มีอากาศร้อนมากๆ ควรเตรียมตัวด้วยการหาเวลาออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออาทิตย์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกไปพบกับอากาศที่ร้อนจัด เพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก ในเมื่ออากาศร้อนนั้นมาพร้อมกับโรคร้ายเราก็ควรหาวิธีการป้องกันตนเองและสุขภาพ ให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะพบเจอกับอากาศร้อนในเมืองไทย โดยยึดหลักความปลอดภัย 4 ข้อง่ายๆ ที่ทำได้ทุกคน คือ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากใช้ห้องน้ำ รักษาความสะอาดห้องน้ำ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง มีความสุขในช่วงซัมเมอร์นี้กันแบบปลอดโรคภัยไข้เจ็บ และกลับมาลุยงานต่อกันด้วยสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ