ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจเงินในกระเป๋าของประชาชน ยุครัฐบาล บิ๊กตู่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday April 21, 2016 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจเรื่อง สำรวจเงินในกระเป๋าของประชาชน ยุครัฐบาลบิ๊กตู่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 6,157 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 1 – 20 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า หลังจากตัดจำนวนเงินของกลุ่มคนที่สูงสุดโต่งออกจากการวิเคราะห์ พบเงินในกระเป๋าของประชาชนยุครัฐบาลบิ๊กตู่ มีรายได้ค่ากลางรวมต่อเดือนจำนวน 17,031.41 บาท ในขณะที่รายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่เดือนละ 11,662.78 บาท โดยมีส่วนต่าง ส่วนเหลือเก็บแต่ละเดือนเดือนละ 5,374.22 บาท เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า ผู้ชายมีเงินเหลือเก็บแต่ละเดือนสูงกว่าผู้หญิง และหาเงินหารายได้ได้มากกว่า คือ ผู้ชายมีรายได้เดือนละ 17,500.65 บาท รายจ่ายอยู่ที่เดือนละ 11,613.37 บาท มีเงินเหลือเก็บเดือนละ 5,887.28 บาท ในขณะที่ผู้หญิงหาเงินหารายได้ได้เดือนละ 16,529.54 บาท รายจ่ายอยู่ที่เดือนละ 11,678.16 บาท มีเงินเหลือเก็บเดือนละ 4,851.38 บาท ดร.นพดล กล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ คนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีรายได้สูงกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีเกือบสามเท่า และมีเงินเหลือเก็บต่อเดือนสูงกว่าเกือบสี่เท่า คือ คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีรายได้เดือนละ 13,283.31 บาท รายจ่ายเดือนละ 9,249.55 บาท มีเงินเหลือเดือนละ 4,033.76 บาท คนที่จบปริญญาตรีมีรายได้เดือนละ 22,648.65 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 15,683.53 บาท และมีเงินเหลือเดือนละ 6,965.12 บาท ในขณะที่คนจบสูงกว่าปริญญาตรีมีรายได้เดือนละ 35,798.99 บาท รายจ่ายเดือนละ 21,776.44 บาท มีเงินเหลือแต่ละเดือนเดือนละ 14,022.55 บาท ที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงคือ คนอีสานมีรายได้สูงสุดแต่ก็ใช้จ่ายสูงสุด คนภาคใต้มีรายได้ต่ำสุดและมีเงินเหลือเก็บน้อยสุด คือ คนอีสานมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 18,580.92 บาท มีรายจ่าย 13,665.78 บาท มีเงินเหลือเดือนละ 4,915.14 บาท คนภาคใต้มีรายได้เดือนละ 13,237.05 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 9,783.64 บาท มีเงินเหลือเก็บเดือนละ 3,453.41 บาท ขณะที่คนกรุงเทพมีรายได้เดือนละ 17,531.61 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 11,137.58 บาท มีเงินเก็บเดือนสูงกว่าคนในภาคอื่นเดือนละ 6,394.03 บาท คนเหนือมีรายได้เดือนละ 17,197.33 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 12,123.32 บาท มีเงินเหลือเก็บเดือนละ 5,074.01 บาท และคนภาคกลางมีรายได้เดือนละ 17,863.02 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 12,121.48 บาท มีเงินเหลือเดือนละ 5,741.54 บาท ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเงินในกระเป๋าของประชาชนในรัฐบาลยุคปัจจุบันยังมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าของประชาชนโดยค่ากลางอยู่ประมาณห้าพันบาทต่อเดือนจึงน่าจะทำให้ประชาชนแต่ละคนได้สำรวจตรวจสอบดูว่าเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายสูงกว่าหรือต่ำกว่าห้าพันบาทถ้าต่ำกว่าก็น่าจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการใช้จ่ายของตนโดยเสนอให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและตั้งเป้าหมายให้มีเงินเหลือสูงกว่าค่ากลางของคนอื่นๆที่สำรวจพบครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนที่มีการศึกษาสูง จะมีรายได้สูงและเงินเหลือเก็บต่อเดือนสูงตามไปด้วย ดังนั้นการศึกษาน่าจะยังเป็นตัวแปรสำคัญช่วยทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้นเพราะพบด้วยว่าคนมีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีรายได้มีเงินเหลือต่อเดือนสูงกว่าคนจบต่ำกว่าปริญญาตรีร่วมสามถึงสี่เท่า "แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ รายได้ของประชาชนแต่ละภาคไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ประชาชนในทุกภาคของประเทศควรมีโอกาสรวยหรือจนเท่าๆ กัน โดยพบว่า คนอีสานกลับมีรายได้สูงกว่าคนทุกภาคแต่ก็มีรายจ่ายสูงกว่าคนทุกภาคจนน่าเป็นห่วงที่คนอีสานอาจจะต้องหากลไกบางอย่างลดรายจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือแต่ละเดือนให้มากขึ้น แต่ที่น่าจะสะท้อนข้อมูลไปยังฝ่ายนโยบายคือ คนภาคใต้ที่ยังคงมีรายได้ต่ำกว่าคนทุกภาคและมีเงินเหลือแต่ละเดือนต่ำสุด ดังนั้น การบริหารจัดการการกระจายรายได้จึงต้องใช้ควบคู่ไปกับการรณรงค์การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ประชาชนรู้จักคิดรู้จักบริหารจัดการรายได้รายจ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ดร.นพดล กล่าว ดร.นพดล กรรณิกา โทร. 062.776.8959 ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล โทร 02.308.0444 หรือ 02.308.0448 หรือ 02.308.0191 www.superpollthailand.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ