ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจเจาะลึกกลุ่มพลังเงียบทางการเมืองในสถานการณ์ที่ร้อนแรง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 27, 2016 11:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจเรื่อง สำรวจเจาะลึกกลุ่มพลังเงียบทางการเมืองในสถานการณ์ที่ร้อนแรง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 3,162 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 1 – 23 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.4 เป็นกลุ่มพลังเงียบทางการเมือง ในขณะที่ ในกลุ่มผู้ชายเกินครึ่งเล็กน้อยคือร้อยละ 51.8 เป็นกลุ่มคนพลังเงียบทางการเมือง และส่วนใหญ่ในกุล่มเยาวชนหรือร้อยละ 56.3 เป็นกลุ่มพลังเงียบทางการเมือง ในขณะที่ กลุ่มคนวัยกลางคนมีอยู่ร้อยละ 52.4 และในกลุ่มผู้สูงวัยมีอยู่ร้อยละ 46.0 ตามลำดับ เป็นกลุ่มพลังเงียบ นอกจากนี้ ยังสำรวจพบด้วยว่า กลุ่มพลังเงียบอยู่ในกลุ่มคนที่ต่ำกว่าปริญญาตรีเกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 53.4 ในขณะที่คนจบปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี มีอยู่ร้อยละ 52.1 และร้อยละ 50.0 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.5 เป็นนักศึกษา ร้อยละ 56.3 เป็นเกษตรกร และร้อยละ 53.4 ของกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนและร้อยละ 56.4 ของกลุ่มคนที่อยู่นอกเขตเทศบาลคือกลุ่มพลังเงียบทางการเมือง ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึง จิตสาธารณชุมชน และความสุข ของกลุ่มพลังเงียบทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.7 ของกลุ่มพลังเงียบมีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน จงรักภักดี รองลงมาคือ ร้อยละ76.1 มีจิตสาธารณชุมชนเข้มแข็ง ปกป้องเทิดทูนสถาบันฯ อันดับที่สาม คือ ร้อยละ 67.9 มีความสุขกับครอบครัว อันดับที่สี่ คือ ร้อยละ 63.4 มีความสุขกับการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มพลังเงียบทางการเมือง มีความสุขกับข่าวเคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยที่สุดคือ มีเพียงร้อยละ 33.1 เท่านั้น ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามกลุ่มพลังเงียบทางการเมืองต่อพรรคการเมืองที่ชอบ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.0 ของกลุ่มพลังเงียบทางการเมืองระบุ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดในใจ ในขณะที่ร้อยละ 42.0 ระบุมีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ อยู่ในใจที่ชอบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ