“จิตสำนึกเคารพกฎหมาย” กุญแจไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน สถิติ “7 วันอันตราย” ชี้ชัด เจ็ดแสนนักขับฝ่าฝืนกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday April 28, 2016 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับที่สองของโลก อยู่ที่ผู้เสียชีวิต 44 คน ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ล่าสุดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สรุปสถิติอุบัติเหตุในช่วง '7 วันอันตราย' (11 – 17 เมษายน 2559) ของเทศกาลสงกรานต์ ว่าเกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 3,447 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.19% และมีผู้เสียชีวิต 442 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 21.43% ซึ่งเป็นสถิติที่ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสิ่งที่น่าตกใจคือมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดกฎหมายจราจรถึง 730,271 ราย แม้เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ก็คงไม่อาจลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ หากผู้ใช้รถใช้ถนนยังคงขาดจิตสำนึกเคารพกฎหมายและเห็นความสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนน พ.ต.อ. วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจจราจร (บก. จร.) กล่าวว่า "อุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง '7 วันอันตราย' ของเทศกาลสงกรานต์ ที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญคือขับขี่ขณะเมาสุรา ร้อยละ 34.09 และขับรถเกินกำหนดร้อยละ 32.93 โดยทาง บก. จร. ได้มีการดำเนินมาตรการ 'เมาขับ-จับจริง-ยึดรถ-ยึดใบขับขี่' ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดีการบังคับใช้กฎหมายจะต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเคารพกฎจราจรแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดื่มไม่ขับ ผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมและเอกชน อย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างถาวร ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน" คุณชัชฎา จันทรางศุ ผู้จัดการ มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ หรือ TFRD (Thai Foundation for Responsible Drinking) กล่าวว่า "ทางมูลนิธิฯ สนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนผ่านการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและจริงจัง อาทิ การยึดรถของผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ ตลอดจนการนำสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายดื่มแล้วขับให้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะแต่ละชุมชนเองมีรูปแบบของปัญหาที่ไม่เหมือนกันและอาจต้องการมาตรการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป" มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ได้ดำเนินโครงการ 'กลับบ้านปลอดภัย คนไทย เมาไม่ขับ' อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกการดื่มอย่างรับผิดชอบและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และพิษณุโลก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการจราจรหนาแน่นในช่วงเทศกาล จากนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยทำงานร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (สปช.) ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและชุมชนในจังหวัดพื้นที่เป้าหมาย ผ่านกลยุทธ์ 'ระดมความคิดร่วมกับชุมชน' ให้ความรู้แก่ผู้นำและคนในชุมชนเกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบสร้างจิตสำนึกดื่มไม่ขับ พร้อมทั้งระดมความคิดร่วมกับคนในชุมชนเพื่อหามาตรการและกำหนดผู้รับผิดชอบของแต่ละชุมชนเพื่อร่วมลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับในชุมชนของตนเอง โดยขณะนี้มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 19 ชุมชน คุณชัชฎา กล่าวต่อไปว่า "มูลนิธิฯ จะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงผิดภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตราย (harmful use of alcohol) อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมูลนิธิฯ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อจัดตั้งโครงการรณรงค์ยับยั้งนักดื่มก่อนวัย ให้แก่เยาวชนใน 100 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์" "มูลนิธิฯ เชื่อว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย รวมถึงการดื่มแล้วขับ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมองและแก้ไขปัญหาอย่างเชื่อมโยงหลายมิติ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบและสร้างจิตสำนึกเคารพกฎหมาย อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด อันเป็นการแก้ไขปัญหาดื่มแล้วขับที่ต้นเหตุและยั่งยืน" คุณชัชฎาสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ