ห้ามตัดต้นไม้บนทางหลวง เรื่องดรามา

ข่าวอสังหา Thursday April 7, 2016 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในยามจำเป็นต้องตัดต้นไม้ ก็ต้องตัด อย่าได้มีแนวคิดอนุรักษ์จน "เพ้อฝัน" กันเลย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่า "อธิบดีกรมป่าไม้ชี้ตัดต้นไม้ทางหลวง'ผิดชัดเจน' ต้องขออนุญาต-ทำประชาพิจารณ์ทุกครั้ง" (http://bit.ly/1SyNMqf) ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการล้อมต้นไม้ไปปลูกที่อื่น แต่ในอีกแง่หนึ่งถือเป็นเรื่อง "ดรามา" เพราะการตัดนั้นตัดบนเขตทางโดยตรง ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในป่า หรือแม้ในบางกรณีหากจำเป็นต้องตัดต้นไม้เข้าไปในป่า ก็อาจต้องดำเนินการ และปลูกป่าทดแทนได้ เป็นต้น แต่อย่าให้กลายเป็นกระแสที่ว่าต้นไม้นั้น "แตะต้องไม่ได้" อย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมา มีการตัดต้นไม้ริมถนนสาทรเหนือและใต้ เพื่อขยายถนนสาทร ก็มีต้นจามจุรี (ฉำฉา หรือก้ามปู) อยู่เป็นจำนวนมาก นักอนุรักษ์ในสมัยนั้นก็ประท้วงไม่ต้องการให้มีการตัดต้นไม้เช่นกัน แต่มาถึงวันนี้จะเห็นได้ว่าการตัดต้นไม้มีความจำเป็น ๆ อย่างยิ่ง หาไม่ถนนสาทรก็คงยังแคบอยู่ การพัฒนาเมืองก็คงขยายตัวลามออกไปในเขตอื่น สร้างปัญหาให้กับการขยายตัวเมืองอย่างสะเปะสะปะ แทนที่จะรวมศูนย์อย่างเป็นระเบียบในเขตเมืองนั่นเอง อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การตัดต้นจามจุรี อายุนับร้อยปีในบริเวณที่จะก่อสร้างห้างเอ็มคอเทีย (ตรงข้ามห้างเอ็มโพเรียม) เมื่อปี 2553 (http://bit.ly/1jK5FIw) ซึ่งในครั้งนั้นก็มีนักอนุรักษ์ออกมาคัดค้านมากมาย แต่ในที่สุดก็ได้ตัดโค่นทิ้งไป ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้เคยเสนอว่า หากต้องการรักษาต้นไม้ไว้ก็คงต้องเสียเงินค่าซื้อที่ดินขนาด 1,000 ตารางวาแปลงนี้ในราคาประมาณ 500 ล้านบาท แต่นักอนุรักษ์และชาวบ้านแถวนั้นคงไม่มีใครยอมจ่ายเป็นแน่ จะให้กรุงเทพมหานครจ่าย ก็คงจะใช่ที่ อีกอย่างหนึ่งก็อยู่ในที่ดินเอกชน และต้นไม้พวกนี้ก็เปราะหักง่าย ไม่ได้มีค่ามากนัก การมีต้นไม้ใหญ่นับร้อยปีอยูในบริเวณนี้แสดงว่าไม่มีระบบการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงปล่อยรกร้างไว้นานเช่นนี้ มีภาพหนึ่งที่น่าสนใจมาก ภาพนี้ เป็นภาพจินตนาการที่ดูน่าทึ่ง คล้ายกับการเคารพธรรมชาติแทบล้มประดาตาย แต่ภาพดรามานี้แสดงให้เห็นถึงความเขลาที่ไม่เข้าใจการออกแบบถนนที่มีความปลอดภัย การหักโค้งแบบนี้ จะทำให้ประชาชนผู้สัญจรไปมาเสียชีวิตทุกปีเดือนเป็นแน่นอน หรือคนจิตนาการภาพนี้คงเห็นชีวิตของคนน้อยกว่าชีวิตของต้นไม้ และมีการเผยแพร่ภาพนี้ประหนึ่งเป็นเรื่องจริงก็ไม่ปาน การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งพึงทำ แต่ต้องชั่งน้ำหนักให้สมเหตุสมผล ไม่ใช่ค้านการพัฒนาแบบตะพึดตะพือ เพราะเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประชาชน อ้างอิง:AREA แถลง ฉบับที่ 122/2559: วันพฤหัสบดีที่ 07 เมษายน 2559 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ